อัจฉริยภาพเป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในตัวคุณ ลองตอบคำถามง่ายๆ จากแบบทดลอง เพื่อก้าวสู่การค้นพบอัจฉริยภาพที่มีอยู่ในตัวคุณ
1. คุณสื่อสารกับชาวบ้านแล้วรู้เรื่องแค่ไหน ซึ่งแสดงถึงอัจฉริยภาพด้านแรก คือ ความสามารถในการใช้ภาษาและการสื่อสาร ปกติอัจฉริยภาพด้านนี้จะเป็นตัวบ่งบอก IQ ของคนเรา ดังนั้นการสื่อสารหรือการใช้ภาษาคือเป็นอัจฉริยภาพอย่างหนึ่ง
2. ร่างกายคุณแข็งแรงและปราดเปรียวแค่ไหน ลองเดินขึ้นบันได 3 ชั้น หากร่างกายแข็งแรงปราดเปรียว คุณคงเดินได้อย่างสบายๆ
3. คุณสามารถมองเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมได้รวดเร็วแค่ไหน มีจินตนาการอย่างไร สามารถเชื่อมโยงสิ่งที่เห็นได้ชัดแค่ไหน ไอน์สไตน์บอกว่าจินตนาการสำคัญกว่าความรู้ ความรู้เพียงแค่ผ่านหูผ่านตาเรา แต่จินตนาการเป็นสิ่งที่เราต้องฝึก
4. คุณทำบัญชีรายรับรายจ่ายของตนเองในแต่ละวันหรือเปล่า ข้อนี้แสดงถึงความถนัดทางด้านคณิตศาสตร์ นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมักจะเป็นนักคณิตศาสตร์ที่เก่ง หรือไม่ก็เป็นนักบัญชีที่เก่ง หรือจะต้องมีนักบัญชีที่เก่งคอยช่วยเหลือ
5. คุณรู้จักตัวเองแค่ไหน ข้อนี้เป็นอัจฉริยภาพอีกด้านหนึ่ง คนที่รู้จักคนอื่นเป็นความฉลาดแต่การรู้จักตัวเองเป็นอัจฉริยะ
6. คุณเข้าใจผู้อื่น มีมนุษยสัมพันธ์ดีแค่ไหน การมีมนุษยสัมพันธ์ถือเป็นอัจฉริยภาพที่ต้องใช้ความสามารถต่างๆ รวมกันหลายด้าน ทั้งด้านการคิดวิเคราะห์ว่าจะพูดคุยกับเขาอย่างไรให้เขาพอใจ ทำอย่างไรให้รู้จักผู้อื่น และพอใจในผู้ที่เราสัมพันธ์ด้วย
7. ชอบธรรมชาติ อยู่กับธรรมชาติหรือเปล่า คนที่มีความลึกซึ้งกับธรรมชาติ ต้องมีอัจฉริยภาพที่จะสัมผัสถึงสรรพสิ่งที่เป็นธรรมชาติทั้งหลายได้อย่างถึงแก่น ดั่งคำกล่าวของ
นักปราชญ์ที่ว่า ‘ถ้าหากต้องการมีความสุขตลอดชีวิตให้อยู่กับธรรมชาติ’
8. เวลาคุณฟังเพลงมีความสุขหรือเปล่า ร้องเพลงเล่นดนตรีได้ไหม ไพเราะหรือเปล่า หากได้ก็ถือว่าคุณมีความเป็นอิสรภาพด้านดนตรีนั่นเอง
คำตอบที่คุณได้จากแบบทดสอบดังกล่าวอาจเป็นอัจฉริยภาพเพียงบางส่วนที่คุณได้ค้นพบ
ไม่ได้หมายถึงการมี IQ สูงเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่อัจฉริยะที่แท้จริงต้องมีครบทั้ง 6Qs
เรามาทำความรู้จักกับ 6Qs กันบ้างว่าประกอบด้วยอะไร และจะช่วยในการสร้างเสริมและพัฒนาอัจริยภาพของคุณได้อย่างไร
สำหรับ Q ตัวแรก คือ IQ หรือเชาว์ปัญญา
ซึ่งหมายถึงความสามารถในการเรียนรู้ การปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาที่อาจไม่มีประสบการณ์มาก่อน คิดและใช้เหตุและผลอย่างมีประสิทธิภาพ การเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของมิติในแต่ละด้านได้เป็นอย่างดี
Q ต่อมาคือ EQ หรือ เชาว์อารมณ์
หมายถึง ความสามารถในการตระหนัก รู้ถึงอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น บริหารอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น สามารถจูงใจตนเองและผู้อื่นได้ มีความเห็นใจและเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น ตลอดจนสื่อสารสร้างมิตรกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี
AQ
หรือความสามารถในการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส หมายถึง ความสามารถในการควบคุม มีสติ เชื่อว่าปัญหาเกิดจากสิ่งแวดล้อม ไม่โทษตัวเอง แต่หากเกิดจากตนเองก็จะยอมรับและพร้อมแก้ไข
MQ หรือเชาวน์จริยธรรม
เป็นความสามารถที่จะแยกแยะ และเลือกทำคุณงามความดีอย่างสบายใจ มีความอดทนอดกลั้นต่อความเย้ายวนใจที่จะทำผิดทางคุณธรรมและจริยธรรม สามารถพัฒนานิสัยและการกระทำที่เป็นที่ยอมรับทางสังคม เช่น ความเสียสละ ความมีน้ำใจ ความเกรงใจ เป็นต้น
HQ หรือ เชาว์สุขภาพ
หมายถึง ความสามารถในการดูแลสุขภาพ ปฏิบัติตนให้พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ เข้าถึงการปรับโครงสร้างของร่างกายเพื่อนำไปสู่ความสมบูรณ์ของร่างกายและจิตใจ
และ Q ตัวสุดท้ายคือ SQ หรือเชาวน์จิตวิญญาณ
หมายถึง ความสามารถในการพัฒนาจิตวิญญาณเพื่อเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในชีวิต การพัฒนาความสมดุลให้กับชีวิต เข้าใจอัจฉริยภาพสูงสุดของตนเองจากการใช้สมองทุกส่วนในการทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ขอบคุณข้อมูลจาก ผศ.ธีระศักดิ์ กำบรรณารักษ์ นักจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้าน AQ และ EQ
ที่มา: 247freemag