ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 2/2568 วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 โดยมีพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม และมี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา รักษาราชการแทนเลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นเลขานุการการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและมีมติที่สำคัญ ดังนี้
1. เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปวิชาชีพศึกษานิเทศก์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
สืบเนื่องจากที่ ก.ค.ศ. ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันจันทร์ที่ 29 เมษายน 2567 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตามนโยบายของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่มอบหมายให้สำนักงาน ก.ค.ศ. ศึกษาสภาพอัตรากำลังและความก้าวหน้าทางวิชาชีพของศึกษานิเทศก์ เนื่องจากพบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในตำแหน่งนี้จำนวนมาก ส่งผลให้ขาดบุคลากรที่จะทำหน้าที่นิเทศ ให้คำปรึกษา แนะนำ ชี้แนะ เป็นพี่เลี้ยง ส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนางานวิชาการให้กับครูและผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน
ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนคุณภาพการจัดการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อให้ศึกษานิเทศก์มีความก้าวหน้าในวิชาชีพ ก.ค.ศ. จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การปฏิรูปวิชาชีพศึกษานิเทศก์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการปฏิรูปวิชาชีพศึกษานิเทศก์ทั้งระบบ ทั้งการปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะ การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้ง การกำหนดช่องทางเพิ่มเติมในการเข้าสู่ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ เปิดโอกาสให้สามารถคัดเลือกบุคคลที่มิใช่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งมีวุฒิปริญญาโทหรือปริญญาเอกที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้ (ยกเว้นสาขาทางด้านการบริหารการศึกษา) และมีประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญระดับสูง ให้สามารถเข้าสู่ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ได้ รวมถึงการปรับโครงสร้างและอัตรากำลังตำแหน่งศึกษานิเทศก์ให้มีความชัดเจนและเหมาะสมกับภารกิจ และได้มอบหมายให้สำนักงาน ก.ค.ศ. นำไปพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งสำนักงาน ก.ค.ศ. ได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน และได้จัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการฯที่เกี่ยวข้อง โดยการประชุมในครั้งนี้ที่ประชุม ก.ค.ศ. ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์สำคัญที่จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการปฏิรูปวิชาชีพศึกษานิเทศก์ ประกอบด้วย
1) การกำหนดประสบการณ์ และความรู้ ความสามารถ ความชำนาญหรือเชี่ยวชาญระดับสูงตามมาตรฐาน ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ (กรณีเป็นผู้ที่มิใช่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา) กำหนดประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ ความชำนาญหรือเชี่ยวชาญระดับสูงสำหรับผู้ที่มิใช่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เปิดโอกาสให้ผู้มีวุฒิปริญญาโทหรือปริญญาเอกที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้เข้าสู่ตำแหน่งได้
2) (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ กรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อประโยชน์แก่ราชการ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยใช้กระบวนการวัดความรู้ ความสามารถที่ครอบคลุมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ในเรื่องเกี่ยวกับวิธีวิทยาการวิจัยทางการศึกษาขั้นสูง ภาวะผู้นำทางวิชาการ ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และทักษะภาษาอังกฤษ สมรรถนะในการปฏิบัติงานของตำแหน่งศึกษานิเทศก์ และประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง โดยคัดเลือกจากกลุ่มผู้ที่มิใช่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐานตำแหน่ง
หลักเกณฑ์และวิธีการนี้ให้ใช้ในกรณีที่ดำเนินการคัดเลือกข้าราชการครูฯ เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด แล้วได้จำนวนผู้ได้รับการคัดเลือกไม่เพียงพอกับ จำนวนตำแหน่งว่าง และ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง เห็นว่า เป็นกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อประโยชน์แก่ราชการ
3) (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ปรับปรุงวิธีการคัดเลือกบุคคลที่มีความเหมาะสม ตรงตามมาตรฐานตำแหน่งศึกษานิเทศก์ที่กำหนดใหม่
4) การกำหนดอัตราเงินเดือนสำหรับคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรองเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ กรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อประโยชน์แก่ราชการ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
5) (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ระบบการพัฒนาศึกษานิเทศก์ ก่อนการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งและกลไกการประเมินสมรรถนะและความพร้อมในการปฏิบัติงาน โดยให้ยกเลิกหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ (ว 6/2551)
การอนุมัติหลักเกณฑ์ดังกล่าวในวันนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันการปฏิรูปวิชาชีพศึกษานิเทศก์ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการมีศึกษานิเทศก์ที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบการศึกษา มีความเป็นผู้นำทางวิชาการมีประสบการณ์และสมรรถนะในการนิเทศการศึกษา จะนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนทั่วประเทศต่อไป
2. เห็นชอบ การกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู โรงเรียนหัวหิน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ ที่ไปปฏิบัติหน้าที่สอนในโรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์
ก.ค.ศ. มีมติให้แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู โรงเรียนหัวหิน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ที่ไปปฏิบัติหน้าที่สอนในโรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ดังนี้
1) หลักเกณฑ์และวิธีการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ตำแหน่งครูผู้ช่วย (ว 19/2561) แก้ไขเพิ่มเติมประเด็นการแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม
2) หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู (ว 6/2567) แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ให้เป็นไปตามบริบทของโรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ในการจัดการเรียนการสอนออกอากาศผ่านดาวเทียม
3) ภาระงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู (ว 21/2564) กำหนดเพิ่มเติมภาระงานฯ ตำแหน่งครู สำหรับการกำหนดชั่วโมงสอนตามตารางสอน โดยให้นับภาระงานการสอนออกอากาศในห้องเรียนต้นทาง และห้องเรียนปลายทาง จาก 1 ชั่วโมง เป็น 3 ชั่วโมง
ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และบริบทการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมของโรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่มีลักษณะเฉพาะ โดยให้ใช้เงื่อนไขฯ ของหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ต่าง ๆ ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้ได้ตั้งแต่วันที่ ก.ค.ศ. มีมติเห็นชอบ ไปจนกว่า ก.ค.ศ. จะมีมติเป็นอย่างอื่น
3. เห็นชอบ ให้แก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการโอนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ระหว่างส่วนราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
โดยให้ยกเลิกความตามหลักเกณฑ์และวิธีการโอนข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ระหว่างส่วนราชการ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตามหนังสือ สำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.2/ว 13 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ข้อ “2.1 การโอนไปสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการให้ส่งคำร้องถึง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือเลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาเอกชน หรือเลขาธิการ กศน. แล้วแต่กรณี” และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “2.1 การโอนไปสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ให้ส่งคำร้องถึงเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน หรืออธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ แล้วแต่กรณี”
ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการยกเลิกพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 ซึ่งกำหนดให้สำนักงาน กศน. สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เดิม เป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้
4. การคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ
เห็นชอบ รายละเอียดตัวชี้วัดและคะแนนการประเมิน ภาค ค ความเหมาะสมกับตําแหน่ง และวิชาชีพ ตามองค์ประกอบที่ ก.ค.ศ. กำหนด ในการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี พ.ศ. 2568 ตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว 16/2557 และ ว 17/2557 ซึ่งเป็นไปตามองค์ประกอบที่ ก.ค.ศ. กำหนด ตามแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการสรรหาบุคคล เพื่อบรรจุและแต่งตั้งฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย (ว 2/2567) และเป็นไปตามบริบทของสถานศึกษาในสังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ โดยตัวชี้วัดและค่าคะแนน ให้ค่าน้ำหนักเกี่ยวกับประสบการณ์ในการสอนและการสมัครในภูมิลำเนาของผู้สมัครเป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเรียนดี มีความสุข อันจะช่วยให้ได้ครูที่มีทักษะและประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอน และลดภาวะการขาดแคลนครูเนื่องมาจากการย้าย
สำหรับองค์ประกอบการสัมภาษณ์ ได้กำหนดตัวชี้วัดเพิ่มเติมเพื่อลดการใช้ดุลยพินิจในเรื่องผลการปฏิบัติหน้าที่สอนที่เกิดกับผู้เรียนและทักษะ และศักยภาพด้านการจัดการเรียนการสอนในกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอกที่สมัคร รวมถึงกรอบการพิจารณาเรื่องความเข้าใจ เรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย จิตสำนึกเรื่องการรักชาติ รักประเทศ จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และคุณธรรมจริยธรรมซึ่งเป็นการกำหนดเช่นเดียวกับที่ ก.ค.ศ. เคยมีมติในครั้งที่ดำเนินการคัดเลือกฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย เมื่อปี พ.ศ. 2567
5. การกำหนดคุณสมบัติของผู้ทรงคุณวุฒิ และกำหนดบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการประเมิน สำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู ผู้มีผลงานการสร้างและพัฒนานวัตกรรม
สืบเนื่องจากที่ ก.ค.ศ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู ผู้มีผลงานการสร้างและพัฒนานวัตกรรม เลื่อนเป็นวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ วิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ และวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญพิเศษ (ว 18/2567) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 โดยกำหนดเกี่ยวกับการประเมินและคณะกรรมการประเมินให้เลื่อนวิทยฐานะ ดังนี้
การประเมิน กำหนดให้มีการประเมิน 2 ด้าน (ด้านที่1 และด้านที่ 2) สำหรับการขอเลื่อนเป็นวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ ให้มีการประเมิน ด้านที่ 1 ด้านทักษะในการออกแบบ สร้างและพัฒนานวัตกรรม และด้านที่ 2 ด้านผลลัพธ์จากการสร้างและพัฒนานวัตกรรม สำหรับการขอเลื่อนเป็นวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญและครูเชี่ยวชาญพิเศษ กำหนดให้มีการประเมินด้านที่ 3 คือ ด้านผลงานทางวิชาการด้วย โดยการประเมินด้านที่ 1 ด้านที่ 2 และด้านที่ 3 ให้มีคณะกรรมการประเมิน จำนวน 3 คน โดยประเมินผ่านระบบ DPA ตามแบบที่ ก.ค.ศ. กำหนด ทั้งนี้ คณะกรรมการประเมินในระบบ DPA ดังกล่าว ให้สำนักงาน ก.ค.ศ. เสนอ ให้ ก.ค.ศ. เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินด้านที่ 1 ด้านที่ 2 และด้านที่ 3 จากบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิและการแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินให้ดำเนินการผ่านระบบ DPA ตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด
ดังนั้น ในการพิจารณากรรมการประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว 18/2567 ซึ่งเป็นการประเมินผ่านระบบ DPA เช่นเดียวกัน จึงเห็นควรพิจารณาคัดกรองจากกรรมการที่ ก.ค.ศ. ได้แต่งตั้งไว้แล้วตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว 9 - ว 11/2564 เนื่องจากสำนักงาน ก.ค.ศ. ได้มีการเก็บรวบรวมประวัติทางด้านคุณวุฒิความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์การดำรงตำแหน่งระดับตำแหน่งและวิทยฐานะ รวมทั้งประวัติการประเมิน ในระบบ DPA ที่ผ่านมาทุกครั้งไว้แล้ว การคัดกรองจากฐานข้อมูลดังกล่าวจึงช่วยให้การพิจารณารายชื่อเป็นไปอย่างมีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย ก.ค.ศ. ได้มีมติ ดังนี้
1. เห็นชอบ การกำหนดคุณสมบัติของผู้ทรงคุณวุฒิ การจัดกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิในระบบ DPA และองค์ประกอบของคณะกรรมการประเมิน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว 18/2567
2. เห็นชอบ กำหนดบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการประเมิน สำหรับการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู ผู้มีผลงานการสร้างและพัฒนานวัตกรรม เลื่อนเป็นวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ และวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว 18/2567 จำนวน 61 คน
6. เห็นชอบบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อแต่งตั้งเป็น อ.ก.ค.ศ. วิสามัญเฉพาะกิจเกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อเลื่อนเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญ สาขาบริหารการศึกษา สายงานบริหารการศึกษา สังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว 17/2552 จำนวน 1 คณะ
เพื่อให้มีองค์คณะที่จะเป็นผู้พิจารณาเกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ขอเลื่อนเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญ เนื่องจากที่ผ่านมา ก.ค.ศ. ยังมิได้มีการตั้ง อ.ก.ค.ศ. วิสามัญเฉพาะกิจเกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อเลื่อนเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญ สาขาการบริหารการศึกษา สายงานบริหารการศึกษา สังกัดสำนักงาน กศน. ตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว 17/2552 ไว้ ประกอบกับปัจจุบันสำนักงาน กศน. ได้เปลี่ยนมาเป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 แล้ว
ขอบคุณที่มาจาก สำนักงาน ก.ค.ศ.