ตามที่ สพฐ. ได้มีหนังสือซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้และการสอนซ่อมเสริม โดยให้สถานศึกษากำกับติดตามช่วยเหลือ สอนซ่อมเสริมและดำเนินการวัดและประเมินผลกรณีนักเรียนมีผลการเรียนไม่สมบูรณ์ (ติด 0 ร มส) นั้น และกระทรวงศึกษาธิการได้มีนโยบายเรียนดีมีความสุขเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งผู้เรียนผู้สอน เพื่อให้การเรียนดีขึ้นลดปัญหาของผู้เรียนในการติด 0 ร มส สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงได้ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้และการสอนซ่อมเสริม และได้กำหนดบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อลดปัญหาของผู้เรียนในการติด 0 ร มส ดังนี้
1. การวัดและประเมินผลในชั้นเรียน เป็นกระบวนการเก็บรวบรวม วิเคราะห์ ตีความ บันทึกข้อมูลที่ได้จากการวัดและประเมินผลแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการตลอดระยะเวลาของการจัดการเรียนการสอน ทั้งก่อนการเรียนการสอน ระหว่างการเรียนการสอน และหลังการเรียนการสอน โดยใช้เครื่องมือและวิธีการที่หลากหลาย เพื่อเป็นข้อมูลย้อนกลับ รายงานความก้าวหน้า จุดเด่น จุดที่ต้องปรับปรุงให้แก่ผู้เรียน รวมถึงวางแผนออกแบบการจัดการเรียนการสอนของครูให้การจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ
2.การตัดสินผลการเรียน สถานศึกษาสามารถกำหนดสัดส่วนคะแนนระหว่างเรียน และคะแนนปลายปีปลายภาคได้ตามความเหมาะสม
2.1 คะแนนระหว่างเรียน สถานศึกษาสามารถนำคะแนนระหว่างการจัดกิจกรรม การเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนแบบ Onsite หรือผสมผสานกับ Distance learning ในแบบต่างๆ ที่ครูผู้สอนมอบหมายให้นักเรียนปฏิบัติ เช่น การตอบคำถาม การพูดคุย การนำเสนองาน ฯลฯ ด้วยวิธีการสื่อสารหลากหลายเช่น ซูม ไลน์ เฟซบุ๊ก ฯลฯ เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุคุณภาพตามมาตรฐานและตัวชี้วัดที่หลักสูตร แกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 กำหนด
2.2 คะแนนปลายปี หรือปลายภาคเรียน สถานศึกษาไม่จำเป็นต้องใช้ข้อสอบเพียงอย่างเดียวอาจพิจารณาจากผลงานชิ้นงาน แฟ้มสะสมงาน การสอบปากเปล่า ผ่านซูม ไลน์ เฟซบุ๊ก หรือช่องทางอื่นได้ตามความเหมาะสมตามบริบทและความพร้อมของสถานศึกษาและผู้เรียนโดยคำนึงถึงคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ
3.การสอนซ่อมเสริม กรณีที่ผู้เรียนมีความรู้ทักษะกระบวนการหรือเจตคติคุณลักษณะ ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนดสถานศึกษาต้องจัดสอนซ่อมเสริมเป็นกรณีพิเศษนอกเหนือจาก การสอนตามปกติเพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนสามารถบรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และพัฒนาโดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายและตอบสนอง ความแตกต่างระหว่างบุคคลเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของผู้เรียนอย่างทันท่วงที
4.เพื่อลดปัญหาของผู้เรียนในการติด 0 ร มส จึงได้กำหนดบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องดังนี้
- จัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับศักยภาพของนักเรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
- จัดหาสื่อเสริมการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนเพื่อให้สามารถศึกษาได้ด้วยตนเอง
- ใช้เครื่องมือวัดและประเมินผลที่หลากหลายตามสภาพจริง โดยเน้นการประเมินเพื่อพัฒนาผู้เรียน
- ในกรณีที่นักเรียนมีแนวโน้มที่จะไม่บรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด ให้เร่งดำเนินการพัฒนาและซ่อมเสริมนักเรียน
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดบทบาทของสถานศึกษาและนักเรียน ดังนี้
- สำรวจข้อมูลนักเรียนที่ติด 0 ร มส
- จัดทำแนวปฏิบัติการแก้ไข 0 ร มส โดยกำหนดแนวทางการสอนซ่อมเสริม และระยะเวลาในการแก้ไข 0 ร มส อย่างชัดเจน
- สื่อสารสร้างความเข้าใจแก่ ครู นักเรียน และผู้ปกครอง เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาและซ่อมเสริมนักเรียนร่วมกัน
- กำกับติดตามและช่วยเหลือนักเรียนที่มีผลการประเมินยังไม่บรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด
- มีส่วนร่วมในการออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และการวัดและประเมินผล
- รู้จักตัวเองเกี่ยวกับการเรียนเพื่อให้สามารถพัฒนาตนเองได้ตามศักยภาพของตนเอง
- ให้ข้อมูลย้อนกลับตนเองเพื่อต่อยอดหรือแก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง
- มีวินัยและความรับผิดชอบในหน้าที่การเรียนของตนเอง
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เน้นย้ำให้คำนึงถึงประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ
ที่มา หนังสือซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้และการสอนซ่อมเสริม ที่ ศธ 04010/ว 3451 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2566