วันที่ 4 ธันวาคม 2566 ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ประชุมชี้แจงการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 29,000 แห่ง และในจำนวนนี้มีนักเรียนที่เป็นศูนย์หรือไม่มีคนเรียน จำนวน 180 แห่ง
“ที่ผ่านมาปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กถูกพูดถึงมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี เช่น ปัญหาครูไม่ครบชั้น ไม่มีผู้บริหารโรงเรียน เป็นต้น แต่เรายังไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งเรื่องดังกล่าวยังเป็นนโยบายของพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ที่ต้องการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก และลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วย
ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาให้กับโรงเรียนขนาดเล็กดังกล่าว สพฐ.จะมอบอำนาจการจัดซื้อจัดจ้างของโรงเรียนขนาดเล็กไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้งหมด เพื่อเป็นการบรรเทาภาระครู ซึ่งจะทำให้ครูได้ทำหน้าที่หลัก คือการจัดการเรียนการสอนได้อย่างแท้จริง
และไม่ทำให้นักเรียนเสียโอกาสที่จะได้เรียนกับครู เพราะครูไม่ควรจะต้องทำหน้าที่อื่นนอกเหนือจากงานการสอน ไม่ว่าจะเป็นงานธุรการ งานจัดซื้อจัดจ้าง หรือแม้กระทั่งการบริหารงบฯอาหารกลางวัน“
ว่าที่ร้อยตรีธนุกล่าวต่อว่า ต่อจากนี้ไปการจัดซื้อจัดจ้างและงานต่าง ๆ ด้านธุรการของโรงเรียนขนาดเล็ก จะมอบให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ดำเนินการแทน ซึ่งได้กำชับว่า จะต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างโปร่งใส ทั้งการจัดซื้อจัดจ้างต้องทำให้ถูกต้องตามระเบียบ ได้ของที่มีคุณภาพ และทำให้โรงเรียนเกิดประโยชน์มากที่สุด
ทั้งนี้ เมื่ออำนาจการจัดซื้อจัดจ้างของโรงเรียนขนาดเล็กไปอยู่ที่ สพท.แล้ว ในส่วนของอัตรากำลังของ สพท.เอง ตนได้ฝากให้สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สพฐ. ไปคิดรูปแบบหรือรีเซตอัตราตำแหน่งของเขตพื้นที่การศึกษาใหม่ เพื่อให้สอดรับกับเนื้องานเหล่านี้ด้วย
ว่าที่ร้อยตรีธนุกล่าวด้วยว่า ตนยังได้กำชับผู้อำนวยการ สพท. ถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี พ.ศ. 2568 ด้วยว่า จะต้องสำรวจโรงเรียนในสังกัดของตัวเอง โดยเฉพาะอาคารเรียนของโรงเรียนต่าง ๆ โดยขอให้ประสานกับวิศวกรหรือนายช่างโยธาในพื้นที่ ให้เข้ามาสำรวจอาคารเรียนแต่ละแห่งว่ามีสภาพอายุการใช้งานมากน้อยแค่ไหน และให้ สพท.จัดลำดับความสำคัญของอาคารเรียนที่วิกฤต นำไปจัดทำคำของบประมาณในหมวดงบฯซ่อมแซมอาคารสถานที่ เพื่อที่จะได้จัดสรรงบประมาณในการซ่อมแซมต่อไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 4 ธันวาคม 2566