วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 รศ.ดร. ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ณ โรงแรมเบลล่า บี จังหวัดนนทบุรี
สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้ดำเนินการพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วน ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ข้อ 2.1 "กำหนดหลักเกณฑ์การย้าย การช่วยราชการให้มีความชัดเจน และยืดหยุ่นตามแต่กรณี รวมทั้งใช้บทลงโทษอย่างเข้มงวดและเด็ดขาดกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการเรียกรับผลประโยชน์ในการโยกย้ายหรือแต่งตั้ง" และเพื่อเป็นการรับฟังความคิดเห็น จึงได้เชิญที่ปรึกษา ผู้บริหารสำนักงาน ก.ค.ศ. ตัวแทนผู้อำนวยการสถานศึกษาในพื้นที่ยากลำบาก ตัวแทนผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตัวแทนข้าราชการครู และผู้แทนจากส่วนราชการเข้าร่วมอภิปรายและพิจารณาร่างองค์ประกอบและตัวชี้วัดต่าง ๆ เพื่อให้มีความครอบคลุม รอบคอบ ลดปัญหาต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในทางปฏิบัติ และแลกเปลี่ยนแนวคิดวิธีการดำเนินการจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรม ทั้งยังสะดวก รวดเร็ว และตรวจสอบได้
ที่มา สำนักงาน ก.ค.ศ.
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ณ โรงแรมเบลล่า บี จังหวัดนนทบุรี โดยมีข้าราชการครู ผู้บริหารสถานศึกษาในทุกสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงผู้แทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เข้ามาร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสะท้อนปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการย้ายในพื้นที่จริง เพื่อนำไปเป็นแนวทางพิจารณารายละเอียดตัวชี้วัดต่าง ๆ ในการปรับหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายฯ โดย รศ.ดร.ประวิต กล่าวว่า การปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายในครั้งนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้เล็งเห็นถึงปัญหาในกระบวนการยื่นคำร้องขอย้ายและการพิจารณาย้ายข้าราชการครูฯ ที่ยังคงใช้รูปแบบการพิจารณาเอกสารหลักฐานจำนวนมาก ครูต้องเดินทางไปยื่นคำร้องขอย้ายด้วยตนเองที่ต้นสังกัด ซึ่งทำให้เกิดการปัญหาการทิ้งห้องเรียนตามมา รวมถึงมีเสียงสะท้อนจากสังคมที่ชี้ว่ากระบวนการย้ายครูไม่โปร่งใสเท่าที่ควร ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงาน ก.ค.ศ. ได้ปรับกระบวนการดำเนินงานด้านการบริหารงานบุคคลให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบันในหลายเรื่อง โดยเรื่องการย้ายก็เป็นเรื่องสำคัญอีกที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ครูได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น ที่ต้องการให้เกิดเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย ให้ครูได้ย้ายกลับมาอยู่ที่ภูมิลำเนาด้วยกระบวนการที่โปร่งใส ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง ดังนั้น หลักเกณฑ์การย้ายฯ จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการและมีแนวทางที่จะนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ในกระบวนการย้ายเพื่อเพิ่มความโปร่งใส ออกแบบระบบให้ทราบผลการย้ายได้อย่างรวดเร็ว และทำให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่าย
นางสาวนุรัต วรกฎ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.)อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น ได้ให้ความเห็นเกี่ยวว่า กรณีการย้ายที่ผ่านมาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่สามารถรับรู้ถึงกระบวนการพิจารณาและติดตามสถานะของคำขอย้ายได้ หากต้องปรับระบบการย้ายใหม่ควรกำหนดค่าคะแนนที่เป็นวิทยาศาสตร์ และเพิ่มระบบติดตามสถานะของคำขอย้ายให้ผู้ขอย้ายทราบว่าเรื่องของเขาอยู่ในกระบวนการใดแล้ว สำหรับการย้ายครูควรมองข้ามเรื่องรางวัล เพราะโอกาสการเข้าถึงรางวัลไม่ครอบคลุมครูทุกบริบทและทุกพื้นที่ แต่ให้ต้องมองไปถึงห้องเรียนและการจัดการเรียนรู้ตามบทบาทหน้าที่ของเขาเป็นหลัก ต้องดูว่า การจัดการเรียนรู้เป็นเช่นไร ผู้เรียนได้อะไร ผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นอย่างไร ซึ่งจะสอดคล้องกับเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะ และการพัฒนางาน ตาม ว PA ที่เขาพัฒนางานในทุก ๆ ปี
ด้าน นายชัยจุติ โอสถ ครู โรงเรียนวัดนวลนรดิศ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนครูที่ได้มาเข้าร่วมประชุมวันนี้ ความคาดหวังคือ ต้องการเกณฑ์การย้ายที่สะท้อนมาจากการปฏิบัติงานของครูอย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่น เรามีการประเมินตาม ว PA อยู่แล้วอาจจะนำ PA นั้นมาใช้เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของการพิจารณาย้าย ซึ่งจะถือเป็นการคืนครูสู่ห้องเรียน เพราะองค์ประกอบในการพิจารณามาจากการทำงานของครูในห้องเรียน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนอย่างแท้จริง
ขณะที่ ดร.ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี จังหวัดเชียงราย ได้สะท้อนประเด็นและให้ความเห็นว่า การทำให้ครูได้อยู่ในจุดที่เขาทำงานได้สมบูรณ์แบบก็คือกลับภูมิสำเนากับที่อยู่ตัวเองแล้วก็มีกำลังใจที่จะทำงานถึงแม้เราจะเป็นห่วงคุณภาพการศึกษา แต่ว่าถ้าเกิดครูไม่มีกำลังจะอยู่ที่นั่นแล้วใจมันจดจ่ออยู่ที่บ้าน มันก็ไม่เกิดประสิทธิภาพ แต่กระบวนการพาคนกลับบ้านก็ต้องโปร่งใส่แล้วก็ลำดับความสำคัญให้ได้ว่าใครจำเป็นเร่งด่วนพร้อมกันนี้ถ้าเจอคนสำคัญเท่ากันก็ต้องพยายามหาตัวชี้วัดที่เป็นวิทยาศาสตร์ ที่สำคัญก็คือการนำระบบดิจิตอลมาช่วยก็เป็นโอกาสที่เราต้องกล้าคิด เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและลดปัญหาความไม่โปร่งใส
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566