เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ว่า ที่ประชุมได้หารือเพื่อเตรียมการบริหารงบประมาณ 2567 โดยให้ใช้งบปี2566ไปพลางก่อน และให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เรียงลำดับความสำคัญของงบประมาณว่าจะนำไปใช้ในประเด็นไหน อย่างไร ส่วนปี2568 ก็ขอให้เริ่มจัดทำคำของบประมาณในช่วงเดือนธันวาคม 2566 ถึงเดือนมกราคม 2567 ทั้งนี้ตนได้กำชับให้ ศธจ. และศึกษาธิการภาค (ศธภ.) บริหารงบประมาณใน 2 มิติ คือ บริหารงบดำเนินงานปกติที่ทางส่วนกลางจัดสรรไปให้ ขณะเดียวกันให้ศธจ. จัดทำโครงการที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เพราะแต่ละจังหวัดจะมีบริบทที่แตกต่างกัน บางจังหวัดอยู่ในพื้นที่ความมั่งคง บางจังหวัดอยู่ในพื้นที่ที่มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หรือบางจังหวัดอยู่ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นต้น
ปลัดศธ.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังได้หารือการขับเคลื่อนโยบายในส่วนของศธจ. ศธภ. และผู้ตรวจราชการศธ. ที่จะต้องมีความสอดรับกัน โดยในส่วนของผู้ตรวจราชการจะต้องปรับบทบาทมาทำงานในเชิงรุกมากขึ้น ไม่ใช่การตรวจติดตามการทำงานเชิงนโยบายอย่างเดียว แต่จะต้องลงไปเป็นผู้ขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่ รวมถึงให้ไปดูรายละเอียดเรื่องการมอบหมายงานตามลำดับชั้น เนื่องจากปัจจุบันสายบังคับบัญชา ยังไม่มีความสอดรับกัน โดยศธจ. และศธภ.ขึ้นตรงกับสำนักงานปลัดศธ. แต่ ศธจ.กลับไม่ได้เป็นสายบังคับบัญชาของศธภ.และผู้ตรวจราชการ ดังนั้น จากนี้ไปสำนักงานปลัดศธ. จะต้องมอบอำนาจในการบริหารจัดการลงไปให้กับผู้ตรวจราชการ และศธภ. ว่าสามารถบริหารจัดการเรื่องของคนและงบประมาณได้ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่ได้เต็มศักยภาพ
“ผมจะมอบหมายอำนาจบางส่วน ให้ผู้ตรวจฯ และศธภ. เพื่อให้จะสามารถขับเคลื่อนการทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยผมได้ย้ำว่า การมอบหมายงานครั้งนี้ เพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพ ไม่ซ้ำซ้อน โดยเฉพาะเรื่องการบังคับบัญชา ให้ผู้ตรวจฯ และศธภ. สามารถบริหารจัดการจังหวัดที่ตัวเองดูแลในแต่ละคลัสเตอร์ได้ เพราะตอนนี้สายบังคับบัญชายังไม่สอดรับกัน ศธจ. และศธภ. ขึ้นกับสำนักปลัดศธ. แต่ ศธจ. กลับไม่ได้ขึ้นตรงกับศธภ. และผู้ตรวจฯ ดังนั้นหากจะทำงานเชิงรุก สำนักงานปลัดศธ. ก็ต้องมอบอำนาจในการบริหารจัดการลงไปให้กับผู้ตรวจฯ และศธภ. ว่าสามารถบริหารจัดการเรื่องของคนและงบประมาณได้อย่างเหมาะสม” ปลัดศธ. กล่าวและว่า ส่วนการแต่งตั้งศธภ. ซึ่งได้คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) กำหนดตำแหน่งที่มีอัตราเงินเดือน มาให้ แบ่งเป็นศธภ. 12 อัตรา รองศธภ. 12 อัตรานั้น เบื้องต้นคิดว่า จะยังคงตำแหน่งศธภ. 6 อัตรา และรองศธภ. 6 อัตรา เท่าที่ได้แต่งตั้งในปัจจุบัน ส่วนที่เหลือจะขอดูภาระงานก่อนว่า จำเป็นต้องตั้งเพิ่มหรือไม่ อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาเส้นทางการเจริญเติบโตที่สอดรับกับภาระงานของแต่ละตำแหน่ง โดยเฉพาะสายบริหารเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต ขณะเดียวกันอาจจะเปิดช่องให้หน่วยงานอื่น เช่น ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา( สพท.) ผู้อำนวยการกรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.)จังหวัด เข้าสมัครมาเป็นรองศธภ. และศธภ.ได้ แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่ใช่ข้อสรุป ต้องไปศึกษา เส้นทางความก้าวหน้าของแต่ละองค์กรหลักทุกแท่งก่อน เพราะมองว่า ทุกองค์กรล้วนอยู่ในกำกับดูแลของศธ. ดังนั้นก็น่าที่จะมีช่องทางการเติบโตข้ามหน่วยงานได้
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 24 ตุลาคม 2566