นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 29 กันยายนของทุกปี เป็นวันหัวใจโลก (World Heart Day) ปัจจุบันโรคหัวใจเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตจากรายงานสถานการณ์โรค NCDs (เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง) ปี 2562 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากที่สุด ประมาณ 17.9 ล้านคน และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของทั่วโลก สำหรับประเทศไทยในปี 2561 พบอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือด ร้อยละ 31.8 ต่อประชากรแสนคน ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด กรมอนามัยจึงขอเชิญชวนประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะประชาชนที่มีความเสี่ยงสูง คือ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้ที่สูบบุหรี่ และผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ แนะ 4 ดี เพื่อเสริม 4 ห้องหัวใจให้แข็งแรง
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับเทคนิคในการดูแลสุขภาพตนเองเพื่อช่วยให้หัวใจแข็งแรง มีดังนี้
โดยกำหนดปริมาณและสัดส่วนอาหารในจานให้เหมาะสม ควรมีผัก 2 ส่วน ข้าวและเนื้อสัตว์อย่างละส่วน เพิ่มการกินผักและผลไม้ เพราะเป็นแหล่งวิตามินแร่ธาตุต่างๆ อุดมด้วยใยอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เลี่ยงหรือลดอาหารที่มีแคลอรีและมีโซเดียมสูง เช่น อาหารแปรรูป อาหารจานด่วน สำหรับกลุ่มข้าวแป้ง ควรเลือกชนิดไม่ขัดสีหรือขัดสีน้อย เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืชเต็มเมล็ด คีนัว เป็นต้น เพราะเป็นแหล่งที่ดีของใยอาหารที่มีส่วน ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ความดันโลหิต และสุขภาพของหัวใจ รวมทั้ง เลือกกินโปรตีนไขมันต่ำ เช่น โปรตีนจากพืช อย่างถั่วเมล็ดแห้ง เต้าหู้ หรือ ปลาที่มีไขมันดี (Omega-3) เช่น แซลมอน ปลาทู ปลากะพง เป็นต้น กรดไขมันโอเมก้า 3 จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้หลอดเลือด กระตุ้นการไหลเวียนเลือด และลดระดับคอเลสเตอรอลได้ หากกินเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ควรกินส่วนที่ไม่ติดมัน และหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูป จำกัดปริมาณไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์ เพื่อช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด เพราะการมีระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงอาจนำไปสู่การสะสมของคราบไขมันที่ผนังหลอดเลือด ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดตีบ หรือหลอดเลือดอุดตันได้
การมีกิจกรรมทางกายเพียงพออย่างน้อย 150 นาที ต่อสัปดาห์ สามารถช่วยลดการเจ็บป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว และหลอดเลือดสมอง ได้ประมาณร้อยละ 22-38 เมื่อเทียบกับผู้ที่มีกิจกรรมทางกายน้อยกว่า 150 นาที ต่อสัปดาห์ ดังนั้น ควรออกกำลังกายระดับปานกลางเป็นประจำ เช่น เดินเร็ว การเดิน 6,000 ก้าวต่อวัน ป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และหากมีการเดินเพิ่มมากขึ้นเป็นวันละ 7,000 – 10,000 ก้าว จะช่วยป้องกันโรคไม่ติดต่อ และเพิ่มสมรรถภาพทางกายให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ควรลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง เป็นระยะเวลานานๆ ในแต่ละวัน ที่ส่งผลร้ายต่อหลอดเลือดหัวใจและสมอง แนะนำกิจกรรมทางกายระหว่างวัน ตามที่องค์การอนามัยโลก ได้แนะนำว่า “ทุกการขยับนับหมด” เพื่อร่างกายที่แข็งแรงและมีสุขภาพดี
จำกัดปริมาณน้ำตาล น้ำมัน และโซเดียม โดยในหนึ่งวันไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา โดยงดหรือลดอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำผลไม้ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชง และขนมหวานต่างๆ ลดน้ำมันและไขมัน ควรคํานึงถึงปริมาณน้ำมันที่ใช้ในการประกอบอาหารในแต่ละครั้ง ให้ใช้ในปริมาณแต่น้อย หรือเท่าที่จําเป็น ใน 1 วัน ควรกินไขมันหรือน้ำมันไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา เลือกรับประทานอาหารประเภทต้ม นึ่ง ย่าง ตุ๋น แทนการทอด นอกจากนี้ การเติมเครื่องปรุงรสในอาหาร ควรจำกัดปริมาณโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเกลือไม่เกินวันละ 1 ช้อนชา หรือเทียบกับน้ำปลาไม่เกินวันละ 4 ช้อนชา
สารนิโคตินและก็าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในควันบุหรี่ จะทำให้เส้นเลือดแข็ง ผนังเส้นเลือดหนา ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากมักจะพบการทำงานของหัวใจเสื่อมลง นอกจากนี้ยังมีผลทำให้คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (Low density lipoprotein หรือ LDL) สูงขึ้น และส่งผลโดยตรงต่อความดันโลหิตและไขมันในเลือดได้
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
ขอบคุณที่มาจาก กรมอนามัย / 29 กันยายน 2566