เมื่อวันที่ 7 ก.ย. สมาคมผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (สบอท.) ได้เข้าแสดงความยินดีในโอกาสที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเข้ารับตำแหน่งใหม่ และได้เสนอข้อคิดเห็นในการบริหารการศึกษา ด้านอาชีวศึกษาที่เป็นปัญหาต้องแก้ไขเร่งด่วนและการกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาคุณภาพการอาชีวศึกษาของประเทศไทย ที่ต้องการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ช่วยแก้ไขให้สำเร็จโดยเร็ว หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งในวันแรก หลังได้ทราบถึงปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไขเพื่อให้ช่วยสร้างความเข้มแข็งการจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษาช่วยแก้ไขปัญหาให้กับสถานศึกษา สถานประกอบการ ผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษา และประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมาการจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษายังประสบปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ทำให้การผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษา ยังพบปัญหาในเรื่องคุณภาพผู้สำเร็จการศึกษา หลักสูตร บุคลากร งบประมาณ เครื่องมือคุรุภัณฑ์ที่ใช้ในการเรียนการสอนที่ยังไม่ทันสมัย ก้าวไม่ทันต่อเทคโนโลยี โครงสร้างการบริหารจัดการที่ยังไม่เอื้อต่อการสร้างการศึกษาอาชีวศึกษาให้เข้มแข็ง ทางสมาคมฯ จึงได้เสนอแนวทางเพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ และรัฐบาลได้ไปพิจารณาแก้ไขปัญหา โดยเสนอต่อ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คนใหม่ 9 ข้อ ดังนี้
1. ขอให้เร่งแก้ไข พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 ใหม่ ให้การจัดอาชีวศึกษามีความเป็นเอกภาพ ทันสมัย กระจายอำนาจลงสู่พื้นที่โดยการจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ทั้งระดับปริญญาตรี โท เอก สายปฏิบัติการ ผลิตกำลังคนสนองตอบความต้องการของพื้นที่ ให้ครบทั้ง 77 จังหวัด
2. สนับสนุนให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับปัจจุบัน รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เพื่อการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง
3. เร่งแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคลากร งบประมาณ คุรุภัณฑ์ ห้องเรียนห้องปฏิบัติการ ปรับวิธีการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ รับประกันการมีงานทำ ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน
4. เร่งการกระจายอำนาจให้สถาบันการอาชีวศึกษาทั้ง 23 แห่ง ทั้งเรื่องการบริหารงานวิชาการ การบริหารงบประมาณ การบริหารงานบุคลากรและการบริหารงานทั่วไป รวมถึงให้สถาบันฯ สามารถจัดตั้งงบประมาณได้เอง
5. สนับสนุนให้มีการจัดตั้งสำนักงานเขตพื้นที่อาชีวศึกษาจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด ดูแลการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรระยะสั้น ปวช. ปวส. และเร่งกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่พื้นที่โดยเร็ว
6. เร่งแก้ไขปัญหาขาดแคลนงบประมาณทั้งงบประมาณพื้นฐานและงบประมาณพัฒนาของสถานศึกษาด้านอาชีวศึกษาให้ทั่วถึงและเพียงพอ
7. เร่งสนับสนุนระบบการผลิตผู้บริหาร ครูอาจารย์และบุคลากรสายวิชาชีพ เส้นทางความก้าวหน้าขวัญกำลังใจ ระบบเงินเดือน วิทยฐานะ สิทธิสวัสดิการของผู้บริหาร ครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาสายอาชีวศึกษา
8. สนับสนุนให้การจัดการอาชีวศึกษาโดยยึดหลักธรรมาภิบาล ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น อย่างเข้มข้นจริงจัง
9. ให้ข้าราชการครูอาจารย์อาชีวศึกษาทำหน้าที่สอนอย่างเดียว ส่วนงานธุรการด้านอื่นๆ ให้จัดจ้างบุคลากรสายสนับสนุนการจัดการศึกษาทำหน้าที่แทน เพื่อยกระดับทักษะการจัดการเรียนการสอน เห็นสมควรให้ศึกษานิเทศก์อาชีวศึกษามาพัฒนาครูอาจารย์ด้านการเรียนการสอนให้เต็มศักยภาพและเสริมสร้างทักษะการเรียนการสอนอาชีวศึกษาอย่างเป็นระบบสอดคล้องกับหลักสูตรและมาตรฐานรายวิชา ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ส่วนการประเมินความดีความชอบของผู้บริหารครูอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา ให้ประเมินจากผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเป็นสำคัญแทนเอกสารสำหรับการเลื่อนวิทยฐานะ ผู้บริหาร ครูอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาสถานศึกษาอาชีวศึกษาให้ปรับนโยบายการประเมินวิทยฐานะจากการเรียนการสอนและผลสัมฤทธิ์เป็นหลักแทนเอกสารหลักฐานการประเมินตามแบบที่ ก.ค.ศ. กำหนด ให้จัดสรรงบประมาณนำเข้ากองทุนพัฒนาอาชีวศึกษาตามกฎหมายอาชีวศึกษา เพื่อนำมาใช้ส่งเสริมสนับสนุนในการพัฒนาผู้บริหาร ครูอาจารย์ และนักเรียนนักศึกษาตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย
จากประเด็นที่เสนอทั้งหมดนั้น เพื่อต้องการให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ ได้นำไปเป็นนโยบายในการพัฒนาการศึกษาด้านอาชีวศึกษาให้มีความเข้มแข็งเพื่อสนองความต้องการของผู้เรียน ผู้ปกครอง สถานศึกษา และสถานประกอบการต่อไป ซึ่งทางสมาคมฯ จะติดตามสนับสนุนให้กำลังใจ และเชื่อมั่นมีความหวังในตัวท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และเลขาอาชีวะคนปัจจุบัน ในการนำพาขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงปฏิรูปการอาชีวศึกษาสู่ความก้าวหน้าให้สำเร็จเพื่ออนาคตของประเทศไทยต่อไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันที่ 7 กันยายน 2566