สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดเวทีสัมมนาวิชาการ “การติดตามและประเมินผลระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน” นำเสนอรายงานข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการพัฒนา ปรับปรุงระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง รองเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการ “การติดตามและประเมินผลระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน” โดยมี นางอำภา พรหมวาทย์ ผอ.สำนักประเมินผลการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา ครู อาจารย์ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประกันคุณภาพจากสถานศึกษาภาครัฐ-ภาคเอกชนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่ โรงแรมรอยัลซิตี้ กรุงเทพฯ
ดร.สวัสดิ์ กล่าวว่า สกศ.ดำเนินการวิจัยติดตามและประเมินผลระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ได้สารสนเทศที่สะท้อนสภาพความจริงและครอบคลุมในทุกมิติการดำเนินงาน รวมทั้งเป็นฐานการคิดวิเคราะห์เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการดำเนินงานของภาคส่วนต่างๆ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และสถานศึกษาที่เหมาะสมให้สามารถขับเคลื่อนระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานให้บรรลุตามเป้าหมายและเกิดประโยชน์สูงสุด โดย สกศ. ติดตามและประเมินผลการประกันคุณภาพการศึกษาจากสถานศึกษาขั้นพื้นฐานกว่า 12,000 แห่งทั่วประเทศ พบว่า ตัวชี้วัดที่ได้รับผลการประเมินในระดับดีมาก คือ สถานศึกษามีการสนับสนุนทรัพยากรเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ผ่านเกณฑ์คิดเป็นร้อยละ 92.62 แต่ยังมีตัวชี้วัดที่ต้องส่งเสริมคือ การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ (PLC) และการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรในงานประกันคุณภาพฯ ของสถานศึกษาผู้ปฏิบัติงานในสถานศึกษาที่ร่วมวิจัยยังได้เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับเกณฑ์การประกันคุณภาพภายใน-ภายนอกให้สอดคล้องกันมากที่สุด เพิ่มการมีส่วนร่วมจากผู้ปฏิบัติในสถานศึกษา และควรเว้นระยะเวลาการติดตามให้ตรงกับช่วงการนำผลประเมินไปใช้ของสถานศึกษาแต่ละแห่ง รวมถึงจัดอบรมการเขียนรายงานการประเมินตนเอง (SAR) ให้สะท้อนสภาพการดำเนินงานของสถานศึกษาได้อย่างแท้จริง
ดร.สวัสดิ์ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ สกศ. ได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายโดยควรมีการปรับลดหรือยกเลิกนโยบายที่ทับซ้อน เพื่อลดภาระงานของผู้ปฏิบัติทั้งในระดับส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และสถานศึกษา รวมถึงสื่อสารเป้าหมายของประกันคุณภาพให้พัฒนาผู้เรียนไปสู่ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมาตรฐานการศึกษาของชาติ อีกทั้งควรจัดสรรงบประมาณส่งเสริมด้านการประกันคุณภาพการศึกษาโดยเฉพาะ เพื่อลดการนำงบประมาณไปใช้กับนโยบายเร่งด่วน
นางอำภา พรหมวาทย์ ผอ.สำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สกศ. รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา กล่าวว่า สกศ. โดยสำนักประเมินผลการจัดการศึกษาได้ดำเนินโครงการวิจัยติดตามและประเมินผลระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อติดตามสภาพการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเมินศึกษาปัจจัยที่ส่งผลสำเร็จ ปัญหาและอุปสรรคของระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้วยการประเมินแบบผสานวิธีทั้งการประเมินเชิงปริมาณและการประเมินเชิงคุณภาพ ที่อาศัยแหล่งข้อมูลจากหน่วยงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และสถานศึกษา เพื่อนำข้อมูลที่ได้นำมาจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการพัฒนา ปรับปรุงระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วจึงได้จัดประชุมสัมมนา เรื่อง การติดตามและประเมินผลระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อนำเสนอรายงานฯ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากที่ประชุม
ขณะที่ ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก คณะกรรมการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ความเชื่อมโยงระหว่างการประกันภายในกับการประกันภายนอกมีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งตามบทบาทแล้วประกันภายในต้องดูแลทั้งระบบ เรื่องปัจจัย กระบวนการ และเรื่องผลผลิตตัวผู้เรียนที่เกิดขึ้น แต่การประกันภายนอก โดยสมศ.จะเน้นตรงผลที่เกิดขึ้น แล้วก็ไม่ได้ทำซ้ำซ้อน สร้างภาระให้สถานศึกษา สมศ.จะใช้วิธีการสุ่มประเมินเฉพาะตัวสำคัญๆ (Spot Check) ผลที่เกิดขึ้น ส่วนตัวปัจจัยกับกระบวนการนั้นให้เป็นเรื่องของต้นสังกัด สถานศึกษาไปดำเนินการ เพราะเป็นเรื่องของภายใน ซึ่งท้ายสุดเมื่อมารวมกันแล้วไม่ว่าจะเป็นสังกัดไหนก็ตาม ระดับการศึกษาปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา อุดมศึกษา เมื่อบูรณาการทั้งหมดแล้ว จะสามารถตอบสนองต่อการศึกษาของชาติได้
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันที่ 11 สิงหาคม 2566