เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. เวลา 09.00 น. ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตัวแทนจากศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เข้าพบ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เพื่อขอทบทวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ในมาตรา 3 (10) ที่ให้ยกเลิกศึกษาธิการจังหวัดฉบับที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร โดยนายณัทชัย ใจเย็น ตัวแทนศึกษาธิการจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวประกาศใช้โดยไม่มีการทบทวนในประเด็นนี้ จะมีผู้ได้รับผลกระทบจากการยุบเลิกหน่งาน ศธจ. ทั้งบุคลากรทางการศึกษาอื่นและพนักงานลูกจ้างกว่า 3,000 คน ซึ่งจะไม่สามารถปฎิบัติงานราชการได้อีกต่อไป โดยจะมีผลกระทบต่อการงานทำงานในพื้นที่อย่างมาก เช่น โรงเรียนเอกชนที่ ศธจ. ดูแลอยู่จะต้องหยุดชะงักทันที การจัดการศึกษาทางเลือกที่ต้องได้รับการอนุมัติจาก กศจ. รวมถึงงานวิชาการที่ต้องส่งเสริมคุณภาพการศึกษา เป็นต้น อีกทั้งการแยกงานบริหารบุคคลออกจาก กศจ. ไปอยู่ที่เขตพื้นที่ก็จะทำให้องค์ประกอบของ อกคศ. เขตพื้นที่ไม่มีผู้แทน กศจ. เข้าไปเป็นกรรมการด้วยทำให้ทำหน้าที่ได้ไม่ครบ ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการเรื่องการเลื่อนวิทยฐานะของข้าราชการครูและการเลื่อนขั้นเงินเดือนด้วย ทั้งนี้ พวกเราจะไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ กมธ.วิสามัญฯ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการทบทวนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้
“พวกเรามีรายชื่อมีการคัดค้านคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งหมด 4,437 คน และรู้สึกกังวลใจในเรื่องนี้เป็นอย่างมากว่าอาจจะถูกยุบหรือไม่ถูกยุบ เพราะสถานการณ์ทางการเมือง รวมถึงต้องมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ทั้งวิปรัฐบาลและวิปฝ่านค้าน แต่สุดท้ายเชื่อมั่น รมว.ศึกษาธิการ ที่จะดำเนินการประสานเรื่องนี้ให้มีการทบทวนเกิดขึ้น” นายณัทชัย กล่าว
น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งก็มีความห่วงใยของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ในวันนี้ผู้แทนศึกษาธิการจังหวัด ก็ได้มานำเสนอให้เห็นว่า ในมาตรา 3 การยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ จะมีการยกเลิกศึกษาธิการจังหวัด ยุบสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) สำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และถ้าหากยุบเลิก จะมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานศึกษาธิการภาคทั่วประเทศ ซึ่งในส่วนของ ศธ. เห็นว่า ยังจำเป็นต้องมีหน่วยงานนี้อยู่ เพื่อเป็นผู้แทนของกระทรวงศึกษาธิการในจังหวัด และในภูมิภาค
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มผู้แทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและศึกษานิเทศก์ ก็ได้มานำเสนอให้ตนทราบว่า ไม่เห็นด้วยในประเด็นที่ต่อไปจะไม่มีเงินวิทยฐานะให้แก่กลุ่มดังกล่าว ซึ่ง ศธ. เห็นว่าจำเป็นที่ต้องปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อให้ทุกคนได้คงสิทธิตามเดิม พร้อมกันนี้ยังมีอีกหลายมาตราที่จำเป็นต้องปรับปรุง เช่น ในส่วนที่เกี่ยวกับการให้ทุกโรงเรียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งหมายรวมถึงโรงเรียนของรัฐทุกประเภทที่ไม่ได้อยู่ในสังกัด ศธ. ด้วย เช่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนสังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โรงเรียนในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งประเด็นต่างๆ เหล่านี้ จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบครอบ ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนได้มอบให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เชิญผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนมาร่วมให้ความคิดเห็นเพื่อเป็นเสียงสะท้อนต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ซึ่ง สกศ. จะรวมรวบข้อคิดเห็น โดยจะมีการนำข้อเรียกร้องของ ศธจ. ในวันนี้มาวิเคราะห์เข้าไว้ด้วย เพื่อนำเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ต่อไป.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันที่ 7 ธันวาคม 2565