23พ.ย.2565- ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีแสดงความเป็นห่วงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา ว่า เรื่องกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายปฏิรูป รื้อระบบการศึกษาหลายอย่าง รัฐบาลเสนอเข้าสภาหลายเดือนแล้ว ขณะนี้มีการแปรญัตติเสร็จแล้ว กำลังรอเข้าสู่วาระสองของสภา สามารถแก้ไขได้อยู่ อย่างไรก็ตาม พบว่ามีการแก้บางประเด็น ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการเป็นห่วง เพราะมีการแก้เปลี่ยนจากร่างของรัฐบาลไปเป็นอย่างอื่นหลายมาตรา แต่ที่เป็นสาระสำคัญมากมี 4 มาตรา คือ 1.มาตรา 3 ที่เป็นการยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 5 ฉบับ ทำให้อะไรบางอย่างที่สถาปนาขึ้นโดยคำสั่งของหัวหน้า คสช.สูญหายไปทันที เช่น คุรุสภาหายไปทั้งหมด สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดซึ่งมีทุกจังหวัดในประเทศ เมื่อยกเลิกจะหายไปด้วย รวมถึง สกสค. เพราะไม่ได้มีการเขียนอะไรมาแทน คนที่ทำงานที่เหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหน
นายวิษณุ กล่าวว่า เราไม่ขัดข้องถ้าจะยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. แต่ช่วยกรุณาเขียนเติมไว้ในบทเฉพาะกาลได้หรือไม่ว่า เมื่อยกเลิกแล้วระหว่างนี้จะทำอย่างไร ทั้งนี้ คำสั่งแต่ละฉบับจะโยงไปถึง พ.ร.บ.อื่นที่มีอยู่ของมันเอง ความจริงการยกเลิกควรจะไปยกเลิก พ.ร.บ.ที่มีอยู่ แต่ปรากฏว่า พ.ร.บ.อื่นนั้นไม่ใช่ฟุตบอลที่จะชู๊ตเข้าเท้าเขาในวันนี้ แต่ พ.ร.บ.ปฏิรูปมันมาวันนี้ เขาเลยจับยกเลิกมันเสียหมด ทั้งหมดอยู่ในมาตรา 3 นอกจากนี้ ยังมีการไปเปลี่ยนแปลงโดยการจัดการศึกษา ความจริงเราต้องการให้มีการศึกษาทางเลือกที่ไม่จำเป็นต้องไปเรียนที่โรงเรียน อาจเรียนที่บ้าน โดยมีพ่อแม่สอน ในอดีตทำได้ แต่ครั้งนี้ให้ทำโดยไม่ต้องขออนุญาตเพียงแต่ไปแจ้งให้ทราบว่าจะสอนลูกตัวเอง ซึ่งมันอาจจะมีปัญหาเกิดขึ้นในบางพื้นที่ ถ้าจะเรียกง่ายๆ วิธีนี้คือการจัดการศึกษาตามใจชอบ และได้วุฒิการศึกษา ซึ่งมันกระทบต่อความมั่นคง แต่ตนไม่บอกว่ากระทบอย่างไร ไปคิดกันเอง เรื่องนี้มันอยู่ที่ว่าไปจัดสอนกันที่จังหวัดไหน
รองนายกฯ กล่าวว่า อีกประเด็นคือ การกระทบในด้านวิทยฐานะ อาจไม่ใช่เรื่องรุนแรงนัก แต่มีผลกระทบ เพราะบังเอิญเขาเขียนไว้ว่าผู้ที่มีอำนาจในการจัดการศึกษา ซึ่งไม่ใช่ครู ปกติจะได้เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และเงินวิทยฐานะ แต่บังเอิญเขาตัดคำว่าวิทยฐานะออกไป แล้วมาเถียงกันว่าถ้าจะให้ๆได้อยู่แล้ว จึงไม่เขียนกัน แต่ถ้าไม่เขียนวันหนึ่งมีคนตีความว่าถ้าไม่เขียนก็ไม่ได้ มันจึงกระทบบุคลากรประเภทนี้ที่มีอยู่ 2 พันคนทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องของการบริหารจัดการโรงเรียนอีก อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เราไม่ได้ว่าอะไรหรอก ส่วนที่เขาแก้แล้วดีขึ้นตนไม่ได้เอามาพูดมีอยู่เยอะ เป็นการปฏิรูปการศึกษาจริงๆ ต้องขอบคุณกรรมาธิการทำงานด้วยดี
“4 มาตรานี้เป็น 4 มาตราที่จะเรียกแขก นึกดูเอาแล้วกันว่าเรียกอย่างไร เพราะฉะนั้น มันยังมีโอกาสอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ที่จะทบทวนเป็นครั้งสุดท้ายในกรรมาธิการ จึงขอให้ที่ประชุม ครม.มอบหมายให้วิปสภาไปพูดคุยกับวิปวุฒิสภา ไปเจรจากันในการที่จะปรับปรุงแก้ไขประเด็นเหล่านี้เสีย เพราะบางประเด็นแค่เติมคำหนึ่งถึงสองคำเข้าไปเท่านั้น”นายวิษณุ กล่าว
รองนายกฯ กล่าวว่า เท่าที่ฟังการทบทวนเรื่องของเงินวิทยฐานะ น่าจะได้รับการเติมใส่เข้าไปโดยไม่ยากเท่าไหร่ เพราะประเด็นนี้หาเสียงได้ แต่ประเด็นอื่นมันจะได้เสียงหรือไม่ ตนไม่รู้
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ผู้ร่างกฎหมายปล่อยให้ช่องโหว่ ทำให้เห็นว่าไม่รอบคอบในการจัดทำร่างหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เขาก็มีความคิดและเหตุผลของเขา คงไม่ยุติธรรมถ้าจะไปประณามหรือว่าเขาแบบนั้น แต่เหตุผลของเขาเป็นเหตุผลในเชิงวิชาการ แต่ในทางการเมืองมันรุนแรง เมื่อถามว่า หากเกิดปล่อยไปผ่านจะส่งผลกระทบต่อคนหลักแสนหลักล้านหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ถึงขนาดนั้น
เมื่อถามว่า การออกมาพูดไม่ถือเป็นการก้าวก่ายสภาใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ก้าวก่าย เพราะเราขอให้วิปไปประสานกัน ซึ่งปกติวิปประสานกันทุกเรื่องอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาอะไร
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565