· Digital Disruptions หรือการพลิกผันทางดิจิทัล นวัตกรรมโลกและเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เมื่อสังคมเปลี่ยน การศึกษาที่เป็นรากฐานของสังคมจึงต้องปรับตัวเพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กออกมา
· หลักสมรรถนะ จึงเป็นคุณสมบัติที่ทั่วโลกมองเห็นว่าจะสามารถยกระดับและพัฒนาเด็กให้เป็นไปตามเป้าหมายและต่อสู้กับโลกอนาคตได้
· ระบบการศึกษาหลายประเทศทั่วโลกได้นำหลักสมรรถนะไปปรับใช้ให้เข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอน เช่น 4 ประเทศที่การศึกษาดีติดอันดับโลกที่ยกมาเป็นตัวอย่าง ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ เบลเยียม และสิงคโปร์
· ได้นำหลักสมรรถนะที่มีหลักคิดที่เหมือนกันไปปรับใช้กับระบบการศึกษาตามแต่ละบริบทของประเทศตน แต่เป้าหมายคือให้เด็กสามารถจัดการตนเองได้ มีสุขภาวะที่ดี เมื่อเรียนไปแล้วสามารถนำไปใช้กับชีวิตในอนาคตได้จริง สามารถยืดหยุ่นและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี อีกทั้งยังเคารพผู้อื่นและยอมรับวัฒนธรรมหรือความแตกต่างของเพื่อนมนุษย์เพื่อเป็นพลเมืองโลกที่ดี
เมื่อเราต้องเผชิญกับภาวะ Digital Disruption หรือการพลิกผันทางดิจิทัล พฤติกรรมของสังคม การแข่งขันในอุตสาหกรรมการทำงานต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มนุษย์ต้องเรียนรู้และปรับตัวเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะความสามารถที่มากพอจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในชีวิตได้ “ หลักสมรรถนะ ” จึงเป็นคุณสมบัติที่ช่วยให้บุคคลประสบความสำเร็จและไปถึงผลลัพธ์นั้นได้ โดยให้หลักคิดคือ
· การจัดการตนเอง รู้ว่าตนเองต้องการอะไร และพัฒนาศักยภาพตรงนั้นให้ดี
· สุขภาวะที่ดี ทั้งด้านความรู้และความฉลาดทางอารมณ์ เพราะสุขภาพจิตเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้
· เรียนไปใช้งานได้จริง พัฒนาทักษะที่จำเป็นที่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของในชีวิตประจำวันและสร้างประโยชน์ต่อสังคมได้
· เคารพในความคิดเห็นและวัฒนธรรมที่แตกต่าง เพื่อการเป็นพลเมืองโลกที่ดี
· มีความยืดหยุ่น รู้ว่าเท่าทันการเปลี่ยนแปลงและวางแผนเพื่อกำหนดเป้าหมายและช่วยเหลือตนเองได้
การศึกษาทั่วโลกจึงเล็งเห็นว่าระบบการศึกษาในปัจจุบันควรช่วยกันพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะสำคัญที่มีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของเด็กในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพและมีหลากหลายประเทศที่ปรับใช้แนวทางสมรรถนะเข้ากับหลักสูตรการศึกษา วันนี้ยก 4 ประเทศมาเป็นแนวทางสมรรถนะที่น่าสนใจและสามารถเป็นตัวอย่างเพื่อปรับใช้ในการศึกษาไทยกันครับ
งานวิจัยของ UNICEF ในปี 2556 ระบุว่า เด็กชาวเนเธอร์แลนด์เป็นเด็กที่มีความสุขที่สุดในโลกเนื่องจากระบบการเรียนที่ผ่อนคลาย ให้เด็กได้เลือกเรียนในสิ่งที่หลากหลายและชื่นชอบโดยไม่ถูกบังคับให้เข้าเรียนในโรงเรียนที่การแข่งขันสูง ๆ แต่เลือกเรียนในสิ่งถนัดได้อย่างอิสระ โดยระบบการศึกษาที่เนเธอร์แลนด์ให้ความสำคัญคือการเรียนส่วนบุคคลและมีระบบติดตามความก้าวหน้าและวัดผลสำเร็จทางการเรียนของเด็กที่เรียกว่า Student Tracking System (LVS – leerlingvolgsysteem) โดยจะใช้ประเมินศักยภาพเด็กเมื่อถึงอายุ 12 ปี จะได้รับคำแนะนำการศึกษาต่อจากโรงเรียนที่สนใจ อีกทั้งจะเลือกเรียนในระดับสามัญหรืออาชีวะก็สามารถไต่ระดับการศึกษาให้สูงขึ้นได้เช่นกัน ประกอบกับมาตรฐานความเท่าเทียมกันของโรงเรียนรัฐแต่ละแห่งทำให้เด็กไม่จำเป็นต้องแข่งขันเพื่อเข้าเรียนโรงเรียนที่ดีที่สุดเนื่องจากโรงเรียนรัฐของเนเธอร์แลนด์ความเหลื่อมล้ำต่ำมาก เด็กในชาตินิยมเรียนที่โรงเรียนรัฐ และโรงเรียนเอกชนมักเป็นตัวเลือกของครอบครัวที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ ด้วยความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ต่ำ เน้นการเรียนรู้ด้วยตนเองไปที่เด็กเป็นรายบุคคลและไม่มีความกดดันใด ๆ ทำให้เด็กแสดงศักยภาพออกมาได้เต็มที่ และเป็นเด็กที่มีสุขภาพจิตดีที่สุดในโลก
ใน
หลักสูตรการเรียนของเขาคือเน้นที่เด็กเป็นหลัก ส่งเสริมฐานสมรรถนะที่เห็นได้ชัดคือด้านพัฒนาการเด็กให้เริ่มเรียนรู้ด้วยตนเองโดยไม่เน้นไปที่ทฤษฎีแต่สร้างการเรียนรู้ให้เด็กเข้าใจจริง ๆ และไม่ได้ตัดสินการเข้าใจด้วยการสอบ ไม่มีการแบ่งประเภทเด็กเก่งหรือไม่เก่ง ไม่มีการจัดอันดับสถานศึกษาและให้การบ้านมาก ๆ แต่เน้นให้เด็กได้มีเวลาศึกษาในสิ่งที่สนใจอย่างอิสระ เรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้อย่างเต็มที่ และในระดับปฐมวัยยังไม่เน้นการเรียนทางวิชาการแต่เน้นที่การเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการการเข้าสังคมและสุขภาพจิตทำให้เด็กได้รับสุขภาวะที่ดี
ในเบลเยียมมีการแบ่งโรงเรียนออกตามภูมิภาคและภาษาเนื่องจากมีความหลากหลายทางเชื้อชาติและภาษา ทั้งภาษาดัตช์ เยอรมัน และฝรั่งเศส มองดูแล้วอาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำได้ แต่เบลเยียมถือว่าเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางการศึกษาอย่างมาก เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนเข้าถึง
ระบบการศึกษา ไม่มีการสอบเข้าเรียน และทุกคนได้เรียนฟรีในระดับการศึกษาภาคบังคับ นอกจากนี้ยังมีทุนเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาให้เลือกหลากหลาย และหลังจากอายุครบ 12 ปี เพื่อจะเลือกเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาจะมีรอบรับเข้าเรียนทั้งหมด 3 รอบแต่ละรอบจะเจาะจงวิชาเรียนเพื่อต่อยอดไปยังส่วนมัธยมปลายที่แบ่งไปตามความถนัด คือมัธยมสามัญทั่วไป มัธยมตอนปลายด้านเทคนิค (คล้ายอาชีวะบ้านเราแต่จะแบ่งชัดเจนคือเน้นไปที่หลักทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จะเป็นทางวิศวกรรมเป็นหลัก) ต่อมาคือมัธยมปลายสำหรับช่างเฉพาะทาง และโรงเรียนศิลปะโดยเฉพาะ ที่รวมทัศนศิลป์ ดนตรี กราฟิก และการเต้นต่าง ๆ เอาไว้ด้วยกัน
นักเรียนจะได้เลือกในสิ่งที่ถนัด จัดการตนเองได้ เรียนรู้ด้วยตนเอง ลงมือทำจริงเพื่อพัฒนาทักษะเหล่านี้และนำไปใช้ในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นประเทศที่มีความหลากหลายของเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรมทำให้สังคมหล่อหลอมสร้างการยอมรับความแตกต่างและอยู่ร่วมกับผู้อื่นตามหลักสมรรถนะได้อย่างครบถ้วน
หากมองมาฝั่งเอเชียสิงคโปร์ถือว่าเป็นประเทศที่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาสูงมากด้วยคะแนน
PISA ที่โดดเด่น แต่การเรียนการสอนถือว่าเป็นเหรียญคนละฝั่งกับทางด้านยุโรปเลยทีเดียวเนื่องจากการเรียนของสิงคโปร์นั้นมีความเครียดและกดดันเป็นอย่างมาก นโยบายการศึกษาของรัฐยังคงเป็นการเรียนรู้แบบองค์รวม การเรียนการสอนในประเทศสิงคโปร์ที่ได้รับความนิยมในประเทศจะเน้นความเรียบง่าย เรียนจากความเป็นจริงและสิ่งที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ 4ด้านคือ
เทคโนโลยี คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษา พร้อมช่วยเฟ้นหาความสามารถพิเศษของเด็ก ๆ แต่ละคนเสริมหลักสมรรถนะผ่านการเรียนรู้ทั้งการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีภาคปฏิบัติให้สามารถนำความรู้ไปใช้ต่อยอดได้จริง และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เพื่อให้เขาเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของชาติ เนื่องจากความหลากหลายทางเชื้อชาติ และวัฒนธรรมทำให้นโยบายของรัฐสิงคโปร์เน้นที่การสร้างค่านิยมรักชาติและสามัคคีกันควบคู่ไปกับการศึกษา ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาแรงงานหรือทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพให้เป็นกำลังสำคัญที่พร้อมจะพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น
การอ่านแนวคิดการปรับใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะจากประเทศต่าง ๆ ทำให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ดี ๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับการสอนในห้องเรียนของไทยได้ แม้ว่าการนำหลักสูตรไปใช้ของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันมาก บางประเทศก็แตกต่างกันสุดขั้วเช่นฝั่งเอเชียกับยุโรปในเรื่องของความกดดันในการเรียน แต่เป้าประสงค์สำคัญของหลักสมรรถนะนี้คือ การสร้างระบบการศึกษาที่เน้นการประยุกต์สิ่งที่ได้เรียนรู้ไปแล้วต้องสามารถนำความรู้ไปต่อยอดและใช้ได้จริงในอนาคต ดังนั้นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจะต้องสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนแต่ละคนอย่างแท้จริงเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคคลนั้น ๆ ออกมาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเอาตัวรอดให้ได้ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
แต่ละประเทศที่ยกมาก็สะท้อนข้อดีในการปรับใช้หลักสมรรถนะเข้ากับระบบการศึกษาให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศตน ซึ่งเราสามารถนำข้อดี ๆ มาปรับใช้กับการเรียนการสอนของไทยเราได้
การศึกษาไทยยังต้องการอะไรเพื่อที่จะพัฒนาศักยภาพเด็กไทยได้จริงตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรสมรรถนะนี้ และหลักสมรรถนะของประเทศต่าง ๆ สามารถนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอนของไทยได้อย่างไรบ้าง ? วันนี้ชวนคุณลองสังเกต หรือออกแบบการศึกษาไทยด้วยสมรรถนะในรูปแบบต่าง ๆ ดูกันครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก www.attanai.com