17 มิ.ย.65 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) รักษาการเลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยความคืบหน้าการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการดำเนินการทางจรรยาบรรณของวิชาชีพทางการศึกษาของคุรุสภา ว่าสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบูรพา จัดทำวิจัยเพื่อศึกษาสภาพและปัญหาการดำเนินการทางจรรยาบรรณของวิชาชีพทางการศึกษา , ศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการดำเนินการทางจรรยาบรรณของวิชาชีพทางการศึกษากับวิชาชีพอื่นทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะ โดยคุรุสภาจะนำผลการวิจัยมาใช้ประกอบการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการดำเนินการทางจรรยาบรรณของวิชาชีพทางการศึกษาของคุรุสภาต่อไป
รักษาการเลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่อไปว่า การควบคุมความประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาให้เป็นตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ เป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญของคุรุสภา ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ซึ่งปัจจุบันการกำหนดกระบวนการดำเนินการทางจรรยาบรรณของวิชาชีพทางการศึกษา กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาเมื่อถูกกล่าวหา หรือกล่าวโทษเข้าข่ายประพฤติผิดทางจรรยาบรรณของวิชาชีพ ผู้ถูกกล่าวหาหรือถูกกล่าวโทษมีสิทธิทำคำชี้แจงหรือนำพยานหลักฐานใดๆ ส่งให้คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ หรือ อนุกรรมการภายในเวลาที่คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพกำหนด โดยต้องทำการสืบสวนข้อเท็จจริง และสอบสวนโดยคณะอนุกรรมการสอบสวนการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพที่แต่งตั้งจากคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพที่ต้องรับผิดชอบดูแลทุกพื้นที่ที่มีการกล่าวหาหรือกล่าวโทษ โดยการดำเนินการทางจรรยาบรรณจะครอบคลุมผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก แม้จะเป็นกรณีการกระทำผิดเดียวกันที่มีการสืบสวนข้อเท็จจริง หรือการสอบวินัยจากต้นสังกัดแล้ว ก็ต้องเริ่มกระบวนการสอบสวนทางจรรยาบรรณของวิชาชีพใหม่ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของคุรุสภา จึงทำให้มีขั้นตอนของการดำเนินการทางจรรยาบรรณที่มีความทับซ้อนกับกระบวนการดำเนินการทางวินัยของต้นสังกัด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการเป็นปัญหาอุปสรรคในการกำกับดูแลการปฏิบัติตามจรรยาบรรณของวิชาชีพได้ จึงทำให้การลงโทษต่อผู้ประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ ยังมีความล่าช้า ดังนั้น จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินการสอบสวนทางจรรยาบรรณเพื่อความรวดเร็ว และเกิดความเป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหากล่าวโทษ รวมทั้งสามารถตรวจสอบได้
“การปรับเปลี่ยนการดำเนินการสอบสวนทางจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา เป็นหนึ่งเป้าหมายที่ผมได้ตั้งไว้ ทั้งนี้ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับเรื่องจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา โดยให้คุรุสภาเร่งสะสาง เรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ โดยขณะนี้มีเรื่องที่ค้างอยู่ประมาณ 1,200 กว่าคดี ซึ่งการปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินการ แก้ไขปรับปรุงกฎหมายการดำเนินการทางจรรยาบรรณของวิชาชีพทางการศึกษา จะช่วยให้การดำเนินงานทางจรรยาบรรณของวิชาชีพมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น และสอดรับกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน” รศ.ดร.ประวิต กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก แนวหน้า วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2565