เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 รศ.ดร.สุรวาท ทองบุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ค สุรวาท ทองบุ : Surawat Thongbu เกี่ยวกับประเด็นร้อนเกี่ยวกับการที่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ... มีมติเสียงข้างมากให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จำนวน 5 ฉบับ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีคำสั่งที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงวันที่ 3 เม.ย.2560 ด้วย ซึ่งจะส่งผลถึงการยุบสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) นั้น ว่าหน่วยงาน ตำแหน่ง องค์คณะ สภา องค์กร กองทุน ใดจะยุบหรือไปต่อใน ร่าง พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. ของรัฐบาล โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ครูของรัฐและ อปท. อาจไม่ได้เป็นข้าราชการ
#หน่วยงาน ที่ปรากฏในร่างของรัฐบาล จะมีเพียง
1) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ
2) สถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้
3) สถานศึกษา และ
4) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) (ในร่างเอ่ยถึงในบทเฉพาะกาล)
(สพฐ. สอศ. กศน. สช. รวมถึง สมศ. ที่ไม่มีปรากฏในร่างของรัฐบาล ที่เดิม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้มี สพฐ. สอศ. สกอ. สกศ. สมศ. ไว้ด้วย)
#ตำแหน่งบุคลากรระดับปฏิบัติ จะมี ครู อาจารย์ ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา รองผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากร
#ตำแหน่งของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับงานจัดการศึกษาระดับนโยบายส่วนกลาง ไว้แต่เพียง
1) เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ
2) ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ
3) น่าจะมีผู้บริหารสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้
(ไม่มีเอ่ยถึง ส่วนภูมิภาค ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด อำเภอ ตำบล ผอ.สพป./สพม.)
#คณะกรรมการ ที่ปรากฏในร่างของรัฐบาล จะมีเพียง
1) คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ และ
2) คณะกรรมการสถานศึกษา
#องค์กร ที่ปรากฏในร่างของรัฐบาล จะมีเพียง 1 องค์กรที่ชัดเจน คือ
1) องค์กร”ครู” เรียกว่า “คุรุสภา” (แต่คณะทำงานเสนอปรับเป็น องค์กร”วิชาชีพครู”เรียกว่า “คุรุสภา” แต่ กมธ.วิ จะเห็นด้วยหรือไม่ ต้องลุ้น)
สำหรับ สกสค. ไม่มีปรากฏในร่างรัฐบาล (คณะทำงานเสนอให้มี สกสค. แต่ กมธ.วิ จะเห็นด้วยหรือไม่ ต้องลุ้น) และสำนักงาน ก.ค.ศ. และ ก.ค.ศ. ไม่ปรากฏ (ในร่างระบุเพียงให้มีกฎหมายว่าด้วยและการบริหารงานบุคคลสำหรับครู ของสถานศึกษาของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (คือ ก.ค.ศ. หรือไม่ ไม่ทราบ คณะทำงานเสนอให้เป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลสำหรับ ”ข้าราชการครู” จากร่างเดิมรัฐบาลระบุเพียงคำว่า “ครู” )
ซึ่งนั่นคือ ตามร่างของรัฐบาล ครูของสถานศึกษาของรัฐและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น อาจไม่ได้เป็นข้าราชการครู (แต่คณะทำงานเสนอปรับและระบุให้เป็นข้าราชการครู ลุ้น กมธ.วิ เห็นด้วยหรือไม่)
#กองทุน ที่ปรากฏในร่างของรัฐบาล จะมีเพียง 1 กองทุนคือ
1) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ซึ่งบางกองทุนที่มีเดิมและมีเงินเหลือให้โอนเข้ากองทุน กสศ. นี้
** ทั้งนี้ มีบทบัญญัติในมาตรา 104 และ 106 ที่เป็นบทเฉพาะกาลที่ให้หน่วยงาน ตำแหน่ง คณะกรรมการ องค์กร และกองทุนต่าง ๆ ยังคงดำรงอยู่ต่อไป ภายใน 2 ปี ที่จะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติ ครม. (กฎหมายลูก) ซึ่งกฎหมายลูกอาจกำหนดให้หน่วยงาน ตำแหน่ง คณะกรรมการ องค์กร และกองทุน มีต่อไปหรือไม่ ก็ได้ อย่างไรก็ตาม โดยหลักเชื่อว่าไม่กระทบสิทธิประโยชน์ส่วนบุคคลใด จะต้องมีการโยกย้าย ทดแทน เยียวยาสิทธิประโยชน์ที่เคยได้เคยมี แน่นอน
*** ด้วยทิศทาง ให้สถานศึกษามีอิสระทางวิชาการและบริหารจัดการ เป็นนิติบุคล มีอำนาจตัดสินใจในการบริหารงานวิชาการ งานการเงินงบประมาณ งานบุคลากร และงานบริหารทั่วไป ให้กระทรวงและหน่วยงานที่อยู่เหนือสถานศึกษามีน้อยที่สุด และมีจำนวนบุคลากร อำนาจ หน้าที่ และงบประมาณน้อยลง แล้วนำมาเพิ่มที่สถานศึกษา ให้มีสถานศึกษาที่มีความพร้อมสมบูรณ์ทุกด้าน ให้ผู้เรียนได้เข้าเรียนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมอย่างมีคุณภาพ ครูมีเวลาทุ่มเทในการสอนอย่างเต็มที่ไม่ต้องคอยรับคำสั่งอย่างล้นเหลือ มีขวัญกำลังใจและคุณภาพชีวิตที่ดี
ที่มา www.facebook.com/700196516671213/posts/5320828477941304/