ค.อ.ท.หนุน กมธ.วิสามัญฯ ยกเลิกคำสั่ง คสช.19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ชี้ สิ้นเปลืองงบประมาณ ทำการศึกษาในพื้นที่สะดุด
เมื่อวันที่ 29 เม.ย. นายธนชน มุทาพร ที่ปรึกษาชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) ขอชี้แจงไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ถึงประเด็นที่ประชุม กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เสียงข้างมากเมื่อวันที่ 22 เม.ย.2565 ได้พิจารณามาตรา 3 มีมติให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. 5 ฉบับ ซึ่งรวมถึง คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่ง ค.อ.ท.เห็นด้วยกับมติดังกล่าว เพราะคำสั่งหัวหน้า คสช.นั้น ได้ใช้บังคับมามากกว่า 5 ปี แล้วไม่ได้ส่งผลต่อการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการได้อย่างมีประสิทธิภาพให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ออกคำสั่งแต่อย่างใด แต่กลับทำให้การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคสะดุด เสียโอกาสในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา สิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น
นายธนชน กล่าวต่อไปว่า ปัญหาที่เกิดจากการใช้อำนาจตามคำสั่งคสช.องค์กรครูทั่วประเทศได้เรียกร้องมาโดยตลอด เพราะได้สร้างปัญหาอย่างมากทั้งระดับนโยบายที่ให้อำนาจของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคที่ทับซ้อนกับอำนาจของ ก.ค.ศ. การตัดโอน หรือเกลี่ยอัตรากำลังต่างส่วนราชการที่ไม่มีความเป็นธรรม โดยการใช้อำนาจของ คปภ.เพื่อหลีกเลี่ยงหลักเกณฑ์ของ ก.ค.ศ. หรือในระดับพื้นที่ ในปัจจุบันนี้มีความพยายามสร้างกลุ่มอิทธิพล สะสมอำนาจ สร้างความหวาดระแวงให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จนอาจทำให้ระบบธรรมาภิบาลขาดความเที่ยงธรรม กศจ.และ ศธจ.เสียโอกาสในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเชิงบูรณาการ เพราะติดหล่มการบริหารงานบุคคล
Advertisement
ทั้งนี้ กศจ.มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการพิจารณาการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสังกัด สพฐ.แต่ในองค์คณะบุคคลกลับไม่มีองค์ประกอบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีแต่ข้าราชการสังกัดอื่น องค์กรอื่นที่ไม่มีพื้นฐานหรือเข้าใจบริบทของการจัดการศึกษาในสังกัด สพฐ. จึงเป็นองค์คณะบุคคลที่ขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
“ที่ผ่านมามีการเพิ่มตำแหน่งของนักบริหารระดับสูง (ศึกษาธิการภาค) รับเงินเดือนระดับ10 จำนวน 18 อัตรา เพิ่มนักบริหารระดับต้น (รองศึกษาธิการภาค) จำนวน 18 อัตรา รับเงินเดือนระดับ 9 และเพิ่มผู้อำนวยการระดับสูง (ศึกษาธิการจังหวัด) จำนวน 77 อัตรา รับเงินเดือนระดับ 9 โดยไม่ได้ทำผลงานทางวิชาการ เหมือนสายงานอื่นๆ ว่าเด็กได้อะไรจากการเพิ่มตำแหน่งและอัตรา” นายธนชน กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามขอให้สมาชิกรัฐสภาทุกคน ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญของการพิจารณาพระราชบัญญัติ ได้โปรดพิจารณาให้ความเห็นชอบการยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 และอีก 5 ฉบับ ตามมติของ กมธ.วิสามัญฯ เสียงข้างมาก เพื่อปลดโซ่พันธนาการที่เป็นกับดักและหลุมพรางการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันที่ 29 เมษายน 2565