ยอดลงทะเบียนแก้หนี้ครูกว่า 4 หมื่นคน 70 สหกรณ์ครูลดดอกเบี้ยสูงสุด 1% ส่งเม็ดเงินเข้าระบบ 2.2 พันล้านบาท
ภายใต้นโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน กระทรวงศึกษาธิการ ได้ขับเคลื่อนด้วยการจัดทำโครงการ “สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย” เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ที่มียอดหนี้มูลค่ารวมกว่า 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งภายหลังปิดรับการลงทะเบียนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาแจ้งความประสงค์เข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้สินทางระบบออนไลน์ เป็นระยะเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานั้น มีจำนวนผู้ลงทะเบียนรวมทั้งสิ้น 41,128 ราย เป็นยอดหนี้รวม 58,835,199,322 บาท
เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการมุ่งมั่นที่จะสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคุณครู และบุคลากรทางการศึกษาให้ได้มากที่สุด เพื่อให้คุณครูสามารถปฏิบัติหน้าที่ในการเรียนการสอนของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูจึงเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะต้องผลักดันให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
"กระทรวงศึกษาธิการ เชื่อมั่นว่า หากคุณครูทุกคนได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดข้อกังวลเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือสามารถขจัดให้หมดหนี้สิ้นไป ครูจะสามารถทุ่มเทเวลาให้กับการเรียนการสอน เพื่อการพัฒนาลูกหลานและเยาวชนไทยอย่างเต็มที่ ให้ครูสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ อย่างน้อยครูต้องมีเงินเหลือไว้ใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 30 เปอร์เซนต์ของเงินเดือน" น.ส.ตรีนุช กล่าว
รมว.ศธ.กล่าวว่า แนวทางที่ ศธ.ได้ดำเนินการไปแล้วนั้น โดยประสานขอความร่วมมือกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ 108 แห่ง เพื่อขอลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ครูที่เป็นสมาชิก ซึ่งขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั้งสิ้น 70 แห่ง สามารถลดดอกเบี้ยลงได้ระหว่างร้อยละ 0.05 - 1.0 มีครูที่ได้รับผลประโยชน์ 463,072 ราย สามารถส่งเงินคืนกลับเข้ากระเป๋าคุณครู 2,262 ล้านบาท สร้างการเงินหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ทันที
"มีหลายสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่ลดดอกเบี้ยให้ 1 เปอร์เซนต์ ทำให้คุณครูมีเงินใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเกือบ 15,000 บาท ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตได้เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นได้ว่า เพื่อนครูพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อนครูด้วยกัน เป็นวัฒนธรรมที่ดีงามในสังคมของข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการ" น.ส.ตรีนุช กล่าว
Advertisement
น.ส.ตรีนุช กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับจำนวนผู้ลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 41,128 ราย มียอดหนี้รวม 58,835,199,322 บาท นั้น ข้อมูลทั้งหมดได้ส่งต่อให้กับสถานีแก้หนี้ในระดับเขตพื้นที่การศึกษาเป็นที่เรียบร้อย ซี่งผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายสถานีแก้หนี้กำลังวิเคราะห์ข้อมูล และเชิญลูกหนี้รายบุคคลมาหารือถึงแนวทางแก้ไข และพร้อมจะทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจา ไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้ในแนวทางที่ได้รับความเห็นชอบร่วมกันทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ ซึ่งหากสามารถรวมยอดหนี้ของครูรายบุคคลมาไว้ที่แห่งเดียว จะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างสะดวก และสามารถบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น
"มีหลายสหกรณ์พร้อมจะรวบยอดหนี้มาไว้ที่เดียว แต่ติดขัดเงินหมุนเวียนที่จะใช้สนับสนุน ซึ่งทางกระทรวงได้สำรวจความต้องการสินเชื่อเบื้องต้น พบว่า มี 27 สหกรณ์ที่ต้องการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) วงเงินรวมประมาณ 54,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องตรวจสอบความต้องการที่แท้จริงอีกครั้ง แต่ก็ได้ประสานกับธนาคารออมสินเพื่อขอรับการสนับสนุนไว้ เบื้องต้นทราบว่าได้เตรียมเงินสนับสนุนไว้แล้ว 5,000 ล้านบาท" น.ส.ตรีนุช กล่าว
นอกจากนี้ ศธ.ได้เร่งจัดหาแหล่งเงินกู้ผ่านสถาบันการเงินอื่นๆ เพิ่มเติมโดยมีสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 1 - 2 แห่ง ที่มีผลการดำเนินงานที่ดี พร้อมให้เพื่อนสหกรณ์ด้วยกันกู้อีก 200 ล้านบาท และประสานไปยังกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอรับการสนับสนุนเงินกู้จากสหกรณ์ต่างๆ ทั่วประเทศอีกด้วย รวมถึงการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อประสานขอรับการสนับสนุนจากธนาคารพาณิชย์อื่นๆ เพิ่มเติม
รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า การควบคุมการอนุมัติเงินกู้ใหม่ของครูและบุคากรทางการศึกษา ยังต้องมีความเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหนี้สินเข้าสู่ระบบมากขึ้น โดยบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ยินดีสนับสนุนให้นายสถานีแก้หนี้สามารถประสานติดต่อเพื่อขอตรวจสอบยอดเงินกู้ของครูได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ขณะเดียวกัน การอบรมคุณครูเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจด้านการเงินเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กัน ซี่งมีเป้าหมายที่จะอบรมครูให้ได้ 100,000 คน ในเดือนสิงหาคมนี้ และจะนำหลักสูตรทางการเงินเป็นหลักสูตรหลักสำหรับการพัฒนาบุคลากรครูอีกด้วย ทั้งนี้ ครูที่ได้รับการบรรจุใหม่ในปีการศึกษา 2565 ทุกคนจะต้องได้รับการอบรมหลักสูตรทางการเงินก่อนการปฏิบัติหน้าที่ เป็นการปลูกฝังความรู้ความเข้าใจและระเบียบวินัยทางการเงินตั้งแต่ต้นทาง
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก แนวหน้า วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2565