สำหรับคู่สมรสบางคู่ อาจเจอปัญหามีบุตรยาก ทำให้ต้องพึ่งเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันมีทางเลือกหลายทางด้วยกันที่ตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ขณะที่หลายๆ คนอาจจะอยากรู้อยู่ว่าเทคโนโลยีทางเลือกสำหรับผู้ที่มีบุตรยาก มีอะไรบ้าง ครั้งนี้จะเป็นการรวบรวมข้อมูลมานำเสนอให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจกัน โดยเทคโนโลยีทางเลือกสำหรับผู้ที่มีบุตรยากมี ดังนี้
1. การฉีดน้ำเชื้อ (IUI)
หนึ่งในเทคโนโลยีทางเลือกของผู้ที่มีบุตรยาก ก็คือการฉีดนำเชื้อที่เรียกว่า IUI - Intra – Uterine Insemination เป็นการฉีดน้ำเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง แก้ปัญหาเรื่องของการตกไข่ที่ไม่ปกติ เพราะการฉีดน้ำเชื้อจะเลือกช่วงเวลาที่ใกล้กับช่วงที่มีไข่ตก เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ วิธีการคือคัดสรรเชื้ออสุจิที่แข็งแรง เพื่อทำการฉีดเข้าไปโดยใช้ท่อพลาสติกขนาดเล็กสอดผ่านปากมดลูกเพื่อฉีด
จากนั้นเชื้ออสุจิจะไปทำการปฏิสนธิกับไข่ที่ท่อนำไข่ เป็นการปฏิสนธิภายในร่างกาย แต่การฉีดน้ำเชื้อเข้าไปในโพรงมดลูก จะช่วยแก้ปัญหาที่ไม่รุนแรงในการตั้งครรภ์ หากบางคนที่มีปัญหารุนแรงกว่านั้น เช่นมีปัญหาเรื่องท่อนำไข่ตีบตัน การฉีดน้ำเชื้อก็ไม่ได้ผล เพราะอสุจิไม่สามารถเดินทางไปปฏิสนธิกับไข่ได้
ขั้นตอนการทำ IUI
1. กระตุ้นไข่ก่อนด้วยยากระตุ้นไข่
2. จากนั้นแพทย์จะทำการนับวันหลังมีประจำเดือน แล้วนัดมาตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อดูว่าขนาดไข่โตแค่ไหน และสามารถโตเต็มที่เมื่อไร
3. แพทย์ทำการวางแผนการฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตกและฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก
4. ฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตกเป็นเวลา 36-40 ชั่วโมง
5. ทำการฉีดน้ำเชื้อ
การฉีดน้ำเชื้อ (IUI) เหมาะกับใคร
● ฝ่ายหญิงที่มีปัญหาไข่ไม่ตกชนิดธรรมดา
● ฝ่ายชายที่มีปัญหาน้ำเชื้ออ่อนแบบไม่รุนแรง
● คู่ที่มีปัญหาเรื่องของเวลาของการมีเพศสัมพันธ์ที่จำกัด เช่น บางคู่อาจแยกกันอยู่
● คู่ที่มีปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้
● คู่ที่ตรวจหาสาเหตุไม่พบ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม Unexplained infertility
2. การทำกิฟต์ (GIFT)
อีกหนึ่งเทคโนโลยีทางเลือกที่ช่วยเพิ่มโอกาสการมีบุตรสำหรับผู้ที่มีบุตรยาก มาจากชื่อเต็มว่า Gamete Intra – Fallopian Transfer หลักการของการทำกิฟต์คือนำเอาไข่ที่สุกเต็มที่ และเชื้ออสุจิที่คัดเลือกแล้ว ฉีด
เข้าในท่อนำไข่ เพื่อเกิดการปฏิสนธิตามธรรมชาติ เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์โดยการให้ไข่และอสุจิได้ปฏิสนธิกันในบริเวณและเวลาที่เหมาะสม ยังจำเป็นต้องอาศัยท่อนำไข่ในการปฏิสนธิ ดังนั้นวิธีนี้ใช้ได้กับผู้ที่มีท่อนำไข่ปกติอย่างน้อย 1 ข้าง หากมีปัญหาท่อนำไข่ตีบตันทั้ง 2 ข้าง ไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้
ขั้นตอนการทำกิฟต์
1. กระตุ้นรังไข่ด้วยการใช้ยา
2. แพทย์ดูการตอบสนองของรังไข่ด้วยการตรวจอัลตร้าซาวด์ และตรวจเลือดดูระดับอร์โมนประกอบ
3. เมื่อได้ไข่ที่มีขนาดใหญ่และจำนวนมากพอ แพทย์จะกระตุ้นการตกไข่โดยการฉีด hCG หลังจากนั้นประมาณ 34-36 ชั่วโมง แพทย์จะทำการเจาะไข่ อาจเจาะผ่านผนังหน้าท้อง หรือผ่านผนังช่องคลอด
4. ย้ายเซลล์ไข่และอสุจิเข้าสู่ท่อนำไข่ ด้วยการส่องกล้อง
5. แพทย์ให้ฮอร์โมนหลังการทำ เพื่อช่วยในการฝังตัวของตัวอ่อน
6. ทดสอบการตั้งครรภ์ โดยการตรวจระดับ hCG ในกระแสเลือดประมาณ 12 วันหลังทำ
การทำกิฟต์ (GIFT) เหมาะกับใคร
● ผู้หญิงมีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติ
● ผู้หญิงที่มีท่อรังไข่ปกติอย่างน้อย 1 ข้าง
● ผู้หญิงที่มีปัญหาเรื่องการตกไข่ หรือไม่มีการผลิตไข่
● ผู้หญิงมีปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์
● ผู้ชายมีอสุจิจำนวนน้อยหรืออสุจิไม่แข็งแรง
● คู่สมรสที่มีลูกยากโดยไม่ทราบสาเหตุ
3. การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF)
อีกหนึ่งเทคโนโลยีทางเลือกสำหรับผู้มีบุตรยาก กับการทำเด็กหลอดแก้วหรือ IVF - In-vitro Fertilization เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่ช่วยให้เกิดการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย โดยขั้นตอนการทำจะอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ เพื่อให้เกิดตัวอ่อน ใช้วิธีการให้ไข่และอสุจิปฏิสนธิกันในจานหรือหลอดทดลอง กระทั่งได้ตัวอ่อน ก็จะทำการฝังตัวอ่อนกลับเข้าไปที่โพรงมดลูกของฝ่ายหญิง เพื่อเจริญในครรภ์มารดาต่อไป
ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว
1. เริ่มต้นแพทย์จะใช้เครื่องอัลตราซาวด์ทำการคัดเลือกไข่ที่สมบูรณ์จากรังไข่ และใช้เข็มดูดไข่ผ่านช่องคลอด เก็บไว้ในหลอด
2. แพทย์ทำการคัดเลือกอสุจิที่สมบูรณ์และแข็งแรงไว้ เพื่อปฏิสนธิกับไข่ในห้องปฏิบัติการ
3. ไข่และอสุจิจะทำการปฏิสนธิกันภายใต้การควบคุมของแพทย์ ซึ่งแพทย์จะติดตามผลหลังปฏิสนธิใน 2 วันถัดมา
4. รอให้ไข่ได้รับการปฏิสนธิจะกลายเป็นตัวอ่อน และพร้อมย้ายเข้าไปในโพรงมดลูกภายใน 3-5 วันหลังเก็บไข่
5. แพทย์ทำการย้ายตัวอ่อนเข้าไปในโพรงมดลูกเมื่อพร้อม เพื่อตั้งครรภ์
การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) เหมาะกับใคร
● ฝ่ายหญิงที่มีปัญหาในมดลูก เช่น เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ท่อนำไข่อุดตันหรือถูกทำลาย หรืออาจมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน รวมถึงผู้ที่มีภาวะไม่ตกไข่หรือไข่ตกช้า
● ฝ่ายชาย มีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของอสุจิ อาทิ มีจำนวนน้อย มีรูปร่างผิดปกติ หรืออสุจิเคลื่อนที่ได้ช้า เป็นต้น
4. การทำด้วยเทคนิคพิเศษ ซึ่งมีหลายวิธี อาทิ ICSI, MESA, TESE เป็นต้น
ทั้งหมดนี้เป็นเทคโนโลยีทางเลือกสำหรับผู้ที่มีบุตรยาก ที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นด้วยทางเลือกที่หลากหลาย การรักษาต้องเลือกที่เหมาะกับสภาพร่างกายของแต่ละคู่และแต่ละบุคคลด้วย ทั้งนี้ส่วนมาก แพทย์จะเป็นผู้ประเมินอาการของการมีบุตรยาก เพื่อหาสาเหตุและเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสม