นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เปิดโอกาสให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีความต้องการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู สามารถลงทะเบียนขอเข้าร่วมการแก้ปัญหาหนี้สินครูได้ตั้งวันที่ 14 ก.พ.-15 มี.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีครูและบุคลากรทางการศึกษาสนใจเข้าร่วมการแก้ปัญหาหนี้ครูทั้งสิ้นกว่า 40,000 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้กลุ่มวิกฤติหรือกลุ่มที่มีการดำเนินการฟ้องร้องอยู่ประมาณ 5,000-6,000 ราย เมื่อเร็วๆนี้ตนได้ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของ ศธ. ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งคณะอนุกรรมการฯชุดนี้จะทำหน้าที่ประสานงานระหว่างสถานีแก้หนี้ครูที่จะประจำอยู่ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และ ศธ. ว่าพบปัญหาอุปสรรคอะไรหรือไม่ในการดำเนินการ เพื่อที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว และให้การทำงานสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างมีสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย
ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการนำข้อมูลครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีความต้องการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูทั้ง 40,000 ราย มาตรวจสอบสิ่งที่ลูกหนี้มีความต้องการและสะท้อนปัญหาเข้ามา ได้แก่ เรื่องการลดดอกเบี้ย ความต้องการปรับโครงสร้างหนี้ ปัญหาเรื่องการชำระค่าธรรมเนียมและความเดือดร้อนจากการทำประกันชีวิตและยังมีปัญหาของลูกหนี้ที่เงินเหลือหลังจากหักชำระหนี้แล้วน้อยกว่าร้อยละ 30 ด้วย ซึ่งที่ประชุมจะมีการจัดกลุ่มลูกหนี้ตามเขตพื้นที่การศึกษาและนำปัญหาที่ได้รับการสะท้อนมาทั้งหมดส่งให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูระดับเขตพื้นที่ฯ ไปดำเนินการติดต่อและเชิญผู้ที่ร่วมลงทะเบียนมาหารือร่วมกันและทำการช่วยเหลือ
นายสุทธิชัยกล่าวด้วยว่า ในวันที่ 8 เม.ย.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูระดับพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูมาตรการต่างๆ รวมไปถึงแนวทางการปฏิบัติของเรื่องนี้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เราได้วางเป้าหมายการดำเนินการไว้ว่าทุก สพท.จะต้องเข้าช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มวิกฤติหรือกลุ่มที่กำลังจะเข้าไปสู่การฟ้องร้องก่อนเป็นอันดับแรก เพราะถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบและต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยรัฐ วันที่ 28 มี.ค. 2565