เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) แถลงข่าวความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา และประกาศไว้ว่าปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน โดยนายกฯ ได้มอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มาดูแลแก้ไขปัญหานี้สินประชาชนรายย่อย ซึ่งในส่วนของ ศธ.ก็รับนโยบายมาเร่งดำเนินการแก้ปัญหาหนี้สินครูตั้งแต่ต้น โดยพบว่าครูมีหนี้สินกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้รวมครูที่เกษียณฯและครูที่ยังทำการสอนอยู่กว่า 900,000 คน ที่มีปัญหาหนี้ โดยศธ.ได้เร่งแก้ไขปัญหาหนี้ครูให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า ศธ.เห็นว่าครูเป็นส่วนสำคัญที่จะพัฒนาการศึกษาให้กับเยาวชน แต่ปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาที่สร้างความกังวลให้กับครูและครอบครัว จึงอยากสร้างขวัญกำลังใจให้ครู ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ครูที่เป็นหนี้ได้มีทางออกและมีกำลังใจในการทำงานพัฒนาการศึกษา โดยศธ.ได้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมีนายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน และมีนายสุทิน แก้วพนา รองปลัดศธ. เข้ามาช่วยดูแลเรื่องดังกล่าว
“เบื้องต้นคณะกรรมการแก้ไขปัญหานี้สินครูฯ ได้ออก 4 มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยเฟสแรก ดังนี้
1.การลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงโดยเปิดโครงการแก้ไขปัญหานี้สินครู ให้สหกรณ์ออมทรัพยครู ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ครูรายใหญ่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งขณะนี้มีสหกรณ์ออมทรัพยครูทั่วประเทศ จำนวน 108 แห่ง มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 70 แห่ง เข้าร่วมโครงการแก้ปัญหาหนี้สินครูฯ และเร่งปรับอัตราดอกเบี้ยลงตั้งแต่ 0.05%-1.0% และพบว่าในจำนวนนี้มีสหกรณ์จำนวน 11 แห่ง ที่ปรับลดดอกเบี้ยต่ำกว่า 5% แล้ว โดยขณะนี้ครูที่ได้รับประโยชน์กว่า 460,000 คน และจะเร่งขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศในเฟสถัดไป
2.นายสุพัฒนพงษ์ ได้เป็นตัวกลางในการประสานขอความร่วมมือกับธนาคารออมสิน เพื่อขอให้ชะลอการดำเนินคดีทางกฎหมายกับกลุ่มครู ซึ่งจะมีครูได้รับประโยชน์กว่า 25,000 คน และเป็นที่ทราบดีว่าครูมีหนี้หลายด้าน ระบบการพิจารณาอนุมัติเงินกู้นั้นยังไม่เป็นระบบที่เชื่อมโยง ศธ.จึงร่วมมือกับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เพื่อเชื่อมต่อระบบข้อมูล และเพื่อควบคุมยอดหนี้ของครูแต่ละคนไม่ให้มากกว่า 70% ของรายได้ ให้ครูมีเงินเหลือใช้จ่ายได้ 30% ของเงินเดือน หากตรวจพบว่าครูต้องการกู้เงินเพิ่มเติมแต่ถ้ามีหนี้รวมมากกว่า 70% แล้ว ก็จะไมได้รับอนุมัติให้กู้เพิ่ม”
น.ส.ตรีนุช กล่าว
รมว.ศธ.กล่าวว่า
3.จัดตั้งสถานีแก้หนี้ ระดับเขตและระดับจังหวัด โดยสถานีแก้หนี้ในระดับเขต จะมีผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เป็นประธานเข้ามาช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย ประนอมหนี้และปรับโครงสร้างนี้ ส่วนในระดับจังหวัด จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานมาช่วยดูแลปัญหาหนี้สินให้ครู นอกจากนี้ ได้หารือเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ โดยจะไปดูระเบียบต่าง ๆว่าจะสามารถนำเงินบําเหน็จตกทอดต่าง ๆมาลดเงินต้น หรือลดหนี้ได้หรือไม่ หรือจะสามารถนำเงินโครงการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) มาใช้เป็นตัวค้ำประกันหนี้ได้หรือไม่ และ
4.การให้ความรู้ด้านการเงินให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยประสานงานกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาให้ความรู้ทางการเงินแก่ครูเพื่อให้สามารถวางแผนการเงินได้อย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น
“เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ศธ.เปิดโครงการ “สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย” โดยเปิดให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา เข้ามาลงทะเบียน ผ่านออนไลน์ เพื่อแจ้งความประสงค์ในการเข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหาหนี้ พบว่ามีครูสนใจเข้ามาลงทะเบียนไม่น้อยกว่า 7,364 คนแล้ว ซึ่ง ศธ.จะจัดแยกข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูในภาพรวมอย่างเป็นระบบ ซึ่งก็ยอมรับว่ามีแนวทางแก้ไขปัญหาหลายเรื่อง แต่มีข้อระเบียบต่างๆขณะนี้ ศธ.อยู่ระหว่างแก้ไขปลดล็อกระเบียบต่างๆเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูต่อไป” น.ส.ตรีนุช กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก แนวหน้า วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565