กรุงเทพฯ 9 ธันวาคม 2564 – กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เดินหน้าสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ชูต้นแบบ 4 โครงการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาไทย ได้แก่ 1.โครงการสู้วิกฤตให้น้องอิ่ม 2.โครงการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 3.อาสาสมัครช่วยเหลือเด็กเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา 4.เครือข่าย ALL FOR EDUCATION ผ่านความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ประชาชน และภาคเอกชน ในรูปแบบเงินสนับสนุนและเงินบริจาค อย่างไรก็ตามจากการดำเนินการดังกล่าว กสศ. ได้การสนับสนุนเงินจากการบริจาคจากภาคประชาชนและเอกชน รวมถึงเงินอุดหนุนจากรัฐบาล นอกจากนี้ กสศ. ยังได้ร่วมกับ กรมสรรพากร เปิดบริจาคเงินเพื่อสมทบช่วยเหลือเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 พร้อมประกาศขยายเวลาลดหย่อนทางภาษีแก่ผู้บริจาคเงินและทรัพย์สินให้ กสศ. ออกไปอีก 3 ปี จนถึงสิ้นปี พ.ศ.2566
รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า กสศ. เดินหน้าสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง หลังพบสถิติ 2 ปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินการช่วยเหลือเด็กเยาวชนผู้ยากจนและด้อยโอกาสในภาวะวิกฤตทางการศึกษา ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 จำนวนกว่า 70,000 คน จากการเปิดรับบริจาคจากประชาชนและหน่วยงานภาคเอกชนมากกว่า 15,000 คน 200 องค์กร รวมทั้งสิ้นราว 74 ล้านบาท ทั้งนี้ จากยอดรับบริจาคดังกล่าว ตลอดจนการสนับสนุนจากภาครัฐได้ถูกนำไปสนับสนุนและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย ผ่าน 4 โครงการสำคัญ ดังต่อไปนี้
· โครงการสู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือเพื่อมื้อน้อง ช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษที่ขาดแคลนอาหารในวิกฤตโควิด-19 จำนวนกว่า 42,000 คน ใน 7,728 โรงเรียน ครอบคลุม 77 จังหวัด รวม 604,980 มื้อ
· โครงการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ทำให้เกิดการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมให้เป็นระบบเดียว สามารถเข้าถึงเด็กกลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือมากกว่า 22,000 กรณีให้ได้รับการดูแลที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุดในทุกมิติ ทั้งด้าน สุขภาพกาย-ใจ สังคม การศึกษา จนสามารถยกระดับเป็นโมเดลการดูแลช่วยเหลือเด็กในสถานการณ์วิกฤติขยายผลระดับประเทศ
· ระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมาเป็นอาสาสมัครจำนวน 300 คน เพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือเด็กเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา โดยเฉพาะช่วงชั้นรอยต่อที่กำลังจะออกจากโรงเรียนและต้องได้รับการช่วยเหลือทันที รวมถึงเด็กกำพร้าจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวนทั้งหมดอย่างน้อย 4,000 กรณี โดยร้อยละ 100 ของเงินบริจาคที่ กสศ. ได้รับจะถูกส่งตรงไปที่เด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย ไม่มีการหักค่าบริหารจัดการใดๆ ทั้งสิ้น
· เครือข่าย ALL FOR EDUCATION ร่วมสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา จากเครือข่ายภาคเอกชน ภาคประชาสังคมตั้งต้นร่วมกันกว่า 16 องค์กร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาพร้อมด้วยรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ได้สละเงินเดือนบริจาคร่วมกับ กสศ. ด้วย
ดร.ไกรยส กล่าวเพิ่มเติมว่า กลยุทธ์สำคัญในการทำงานของ กสศ. คือการใช้ผลงานวิจัยและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ ระบบ iSEE ค้นหากลุ่มเป้าหมายเด็กเยาวชนและสถานศึกษา โดยระบบ iSEE จะอำนวยความสะดวกให้ผู้บริจาคช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายได้ถูกคน ตรงจุดปัญหา มีระบบติดตามรายงานผลการเปลี่ยนแปลงให้แก่ผู้บริจาคอย่างต่อเนื่อง และสามารถประมวลผลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษในระดับประเทศ ภูมิภาค จังหวัด สถานศึกษา ไปจนถึงระดับผู้เรียน ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกจังหวัดทั่วประเทศ นอกจากนี้ กสศ. ยังคงมุ่งเดินหน้าภารกิจช่วยเหลือเด็กและเยาวชนให้ได้รับการสนับสนุนทางการศึกษา ผ่านโครงการสำคัญอื่นๆ ครอบคลุมปัญหาทางการศึกษาในทุกมิติ และกลุ่มเป้าหมายทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระยะยาว
“กสศ. มีความยินดีที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการขยายเวลาลดหย่อนทางภาษีแก่ผู้บริจาคเงินและทรัพย์สินให้ กสศ. นำไปใช้ดำเนินการตามภารกิจลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาออกไปอีก 3 ปีถึงสิ้นปีภาษี 2566 ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 54 วรรคหกซึ่งกำหนดให้รัฐใช้มาตรการหรือกลไกทางภาษีเพื่อสนับสนุนให้ผู้บริจาคเงินและทรัพย์สินเข้ากองทุนได้รับการลดหย่อนภาษี” ดร.ไกรยส กล่าวทิ้งท้าย
อธิบดีกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง กล่าวว่า พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 732) พ.ศ.2564 ซึ่งให้การยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลและนิติบุคคลที่บริจาคให้แก่ กสศ. ในรูปการบริจาคที่กระทำผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (E–Donation) เป็นจำนวน 2 เท่า ของจำนวนเงินที่บริจาค เป็นไปตามหลักรัฐธรรมนูญ โดยการขยายเวลาลดหย่อนทางภาษีออกไป จากเดิมที่สิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ไปสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เพื่อจูงใจให้เกิดการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมถึงการเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพครู
สำหรับบุคคลธรรมดาจะลดหย่อนภาษีได้เป็น 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่นๆ สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้หักเป็นรายจ่ายได้เป็น 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาค ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร
“กฎหมายฉบับนี้มีส่วนยกระดับการศึกษา ช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระยะยาว เพราะเมื่อคนสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้มากขึ้น มีการศึกษาที่ดีขึ้น นำไปสู่การสร้างโอกาส สร้างรายได้ที่ดีขึ้น และเมื่อประเทศมีแรงงานที่มีศักยภาพและทักษะที่ดี จูงใจการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โอกาสนี้อยากเชิญชวนให้คนที่มีศักยภาพในการบริจาค ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลหันมาบริจาคเงินให้ กับ กสศ. เพราะนอกจากจะได้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีแล้ว ยังมีส่วนร่วมยกระดับเศรษฐกิจประเทศไทยไปด้วยกันอีกด้วย” ดร. เอกนิติ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ขอเชิญชวนประชาชนและภาคเอกชน ร่วมบริจาคสมทบเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา จากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะช่วงชั้นรอยต่อที่กำลังจะหลุดออกนอกระบบให้ได้กลับมาเรียน ผู้สนใจสามารถบริจาคผ่าน ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (E-Donation) https://donate.eef.or.th หรือโอนเงินผ่านธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) - เงินบริจาค เลขบัญชี 172-0-30021-6 พร้อมส่งหลักฐานการโอนเงินเป็นรูปภาพหรือรูปถ่าย มาที่ donation@eef.or.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 02-079-5474