เจาะลึกช่องว่างการศึกษาไทย! ศ.นพ.วิจารณ์ ชี้ใหญ่กว่าช่วงโควิด-19 เหตุนโยบายและวิธีปฏิบัติสร้างช่องว่างและความด้อยโอกาสให้โรงเรียนที่อยู่ห่างไกล คาดผลลัพธ์การเรียนรู้เฉลี่ยของเด็กไทย ไม่เกิน 30% เสนอทางออกโรงเรียนพัฒนาตนเอง ชูครูเป็นผู้ก่อการร่วมพัฒนาระบบการศึกษาในทุกระดับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ 11 เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง ได้แก่ มูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยนเรศวร ศูนย์ยวพัฒน์ มูลนิธิรัฐบุรุษฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มูลนิธิสยามกัมมาจล และ 11.สพป. สุรินทร์ เขต 2 ซึ่งมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการด้วยความสมัครใจ จำนวน 659 แห่งทั่วประเทศ จัดเสวนาออนไลน์ “โรงเรียนเปลี่ยนใหม่ ปิด Gap ห้องเรียนยุคโควิด-19 ครั้งที่ 1”
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษา คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และประธานอนุกรรมการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ กล่าวว่า Learning Loss ภาวะการเรียนรู้ถดถอย หรือ Learning Gap ช่องว่างการเรียนรู้ เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทย มานานและมากกว่าที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 แต่หลายฝ่ายไม่รู้ตัว เป็นช่องว่างที่ทำให้เด็กไม่ได้รับการพัฒนาโดยใช่เหตุ ไม่บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้เต็มศักยภาพ นักเรียนแต่ละคนมีพื้นฐานแตกต่างกัน ถ้าไม่ระวัง จะมีเด็กจำนวนหนึ่งที่ไม่บรรลุเป้าหมายการเรียนรู้และไม่ได้รับการดูแล เป็นช่องว่างที่ต้องปิดเพื่อทำให้อย่างน้อยนักเรียนทุกคนต้องบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ขั้นต่ำ นี่เป็นเป้าหมายที่ไม่เหนือบ่ากว่าแรง ประเทศที่คุณภาพการศึกษาดีทำได้ แต่ไม่ใช่ที่ประเทศไทยทำอยู่ในปัจจุบัน ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ความเชื่อและเปลี่ยนระบบ เรื่องนี้เป็นเป้าหมายของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองที่ กสศ.ร่วมกับ สพฐ. ตชด. อปท. สช. และ 11 เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564