"ตรีนุช" เผยเร่งแก้ปัญหา "หนี้สินครู" วาง 4 มาตรการหลัก ลดดอกเบี้ย ยุบยอดหนี้ลงด้วยหุ้นสหกรณ์ ใช้เงินบำเหน็จตกทอด และนำเงินสะสมจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เตรียมสรุปหารืออีกครั้ง 8 พ.ย.นี้
เมื่อวันที่ 2 พ.ย. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ดูแลแก้ไขปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ประชุมวางแผนแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการครูเช่นเดียวกัน และได้วางมาตรการไว้หลากหลายแนวทาง โดยการนำร่องแก้ไขปัญหาหนี้ครูจากแหล่งหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู เพราะเราพบว่าครูเป็นหนี้ก้อนใหญ่จากแหล่งเงินดังกล่าวกว่า 60% ดังนั้น ศธ.จะมาสรุปข้อมูลการแก้ไขปัญหาหนี้ครูว่าจะใช้แนวทางใดได้บ้าง เพราะนายสุพัฒนพงษ์ จะเป็นตัวกลางเข้าคุยกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เพื่อไปปรับแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยจะมาสรุปข้อมูลอีกครั้งในวันที่ 8 พ.ย.นี้
ด้านนายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะทำงานแก้ปัญหาหนี้ครูของ ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมได้วาง 4 มาตรการหลัก คือ และ โดยจะมาดูว่าในมาตรการดังกล่าวจะสามารถนำมาตรการใดมาใช้แก้หนี้ได้ก่อน เพื่อให้เห็นผลสำเร็จเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยหลักการของการแก้หนี้ครูคือ จะเริ่มจากครูเป็นหนี้ระดับวิกฤติหนัก เพราะต่อจากนี้ไปเราต้องให้ครูที่เป็นหนี้มีเงินเดือนเหลือใช้ในบัญชีให้ได้ 30% นอกจากนี้ยังมีประเด็นการแก้ไขหนี้ครูด้วยการตัดเฉพาะยอดหนี้ของเงินกู้สหกรณ์ เพื่อให้ครูมีเงินเหลือใช้ในบัญชีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปของมาตรการดังกล่าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไปหารือร่วมกันอีกครั้งและในวันที่ 8 พ.ย.นี้จะสรุปมาตรการอีกครั้ง
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564
Advertisement
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ ว่า ที่ประชุมหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกันว่า จะต้องดึงสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเข้ามาช่วยเหลือเพราะครูกว่า 60% เป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูอยู่ ทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นเจ้าหนี้ที่ใหญ่ที่สุด และที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี รับหน้าที่ดูแลและช่วยเหลือหนี้สินข้าราชการทั้งระบบ ซึ่งนายสุพัฒนพงษ์ จะเป็นตัวกลางเข้าไปพูดคุยกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงการแก้ไขปัญหาหนี้ครูด้วย ซึ่งขณะเดียวกัน ศธ.ก็จะกลับมาดูรายละเอียดต่างๆ เพื่อปรับหลักเกณฑ์ ให้การแก้ไขปัญหานี้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ ศธ.จะเร่งแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด เพื่อให้ครูมีเงินเดือนเหลือใช้ และสามารถอยู่ได้
ด้าน นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ ว่า ที่ประชุมหารือถึงเครื่องมือที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู พร้อมกับวิเคราะห์ว่าจะสามารถใช้ได้จริงมากน้อยเพียงใดเช่น การลดดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ หากทำการลดดอกเบี้ยแล้วจะช่วยแบ่งเบาภาระของครูลงได้อย่างไรบ้าง หรือนำเงินในอนาคตของครู เช่น เงินค่าหุ้นที่อยู่ในสหกรณ์ออมทรัพย์ครู เงินบำเหน็จตกทอด และเงินสะสมกองทุนบำเหน็จข้าราชการ (กบข.) เพื่อนำมายกยอดหนี้ลงเพื่อให้ครูผ่อนชำระนี้ได้คล่องตัวมากขึ้นแทนที่ครูจะไปจ่ายเงินกู้จำนวนมากๆ และเรื่องการตัดเงินเดือน จะต้องปรับเกณฑ์อย่างไรเพื่อไม่ให้ครูได้รับความเดือดร้อน เช่น อาจจะตัดเฉพาะยอดหนี้ของครู แต่ไม่ให้ตัดยอดในส่วนอื่นๆ ด้วย
นายสิทธิชัย กล่าวต่อว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้หารือร่วมกับผู้บริหารธนาคารออมสิน เรื่องแก้ไขปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบ ซึ่งธนาคารออมสินยินดีจะช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยหลังจากนี้คณะทำงานแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ จะเร่งเข้าไปเจรจากับหน่วยงานที่ปล่อยเงินกู้ให้ครู เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ว่าจะไปลดค่าใช้จ่ายให้อย่างไร และทางธนาคารออมสินจะเข้าไปช่วยเหลืออย่างไร เพื่อให้สหกรณ์ลดดอกเบี้ยให้ครูต่อไป ส่วนความคืบหน้าโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน ในระยะที่ 1 จะนำมาเร่งแก้ไขปัญหาครู ขณะนี้มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครู เข้ารวมโครงการ 20 แห่ง มีครูเป็นสมาชิกทั้งหมดเกือบ 200,000 คน และขนาดนี้อยู่ระหว่างเปิดรับสมัครสหกรณ์ออมทรัพย์มาเข้าร่วมโครงการแก้ปัญหาหนี้สินครูในระยะ 2 คาดว่าจะมีสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ สนใจเข้ามาร่วมประมาณ 30 - 40 แห่ง
"หากมีสหกรณ์ออมทรัพย์ครู เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น ภายใน 2 เดือนนี้จะเห็นผลในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู เช่น ครูมีสภาพคล่องในการชำระหนี้อย่างไร ครูมียอดหนี้ลดลงมาอย่างไร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ต่อไปคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ จะเร่งทงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูต่อไป คาดว่าจะสามารถ MOU กับสหกรณ์ออมทรัพย์ในเร็วๆ นี้" นายสุทธิชัย กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก แนวหน้า วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564