สภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ทำหนังสือถึง ตรีนุช.สพฐ.อว.คุรุสภา และก.ค.ศ.ถามหาความชัดเจนในเนื้อหาสาระหลักสูตรฐานสมรรถนะ
เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2564 รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ อดีตประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาตร์แห่งประเทศไทย และในฐานะที่ปรึกษาสภาคณบดีฯ เปิดเผยถึงกรณีน.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.) จะประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ….(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ว่า รศ.ดร.สมบัติ นพรัก ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาตร์ฯได้ทำหนังสือสอบถามไปถึง น.ส.ตรีนุช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงการนำหลักสูตรดังกล่าวมาใช้ เนื่องจาก คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เป็นหน่วยงานผลิตครู ซึ่งต้องได้รับความชัดเจนในตัวของหลักสูตรก่อนที่จะนำไปผลิตครู โดยปัจจุบันคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ได้ผลิตครูตามมาตรฐานคุณวุฒิสาขา/สาขาวิชา 26 ฉบับ(มคอ.1) ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)ตามกฏหมายที่ระบุไว้ว่าหากหน่วยงานไหนจะผลิตหลักสูตรครูจะต้องมีเนื้อหาสาระ 26 รายวิชา และเขียนแนบท้ายว่าจะต้องสอนอะไรบ้าง จะเกิดมาตรฐานการเรียนรู้อย่างไร เป็นต้น ซึ่งคุรุสภาก็ใช้กฎหมายฉบับนี้เช่นกัน ดังนั้นถ้าปรับหลักสูตรเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะก็ต้องแก้กฎหมายนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม การทำให้เกิดสมรรถนะนั้นไม่ยาก เพราะอยู่ในมาตรฐานผลการเรียนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าครูจะต้องนำไปปรับให้สอดคล้องกับสมรรถนะที่ต้องการเท่านั้น และการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)จะปรับหลักสูตรอะไรก็ต้องแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบด้วยว่าจะปรับหลักสูตรแล้วนะ สถาบันผลิตครูก็ต้องปรับเปลี่ยนวิชาเอกตามไปด้วย ไม่ใช่นักศึกษาเรียนหลักสูตรครูมา 4-5 ปี แต่จะให้ตั้งลำมาสอนวิชาสมรรถนะในเวลาเพียงปีเดียว
รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ กล่าวต่อไปว่า ในการประชุมเมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาคณบดีฯได้เห็นชอบให้มีการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรผลิตครูตามสาขาวิชาและบริบทพื้นที่ เพื่อสร้างความเป็นเลิศ โดยจะมีการปฏิรูปหลักสูตร 6 สาขา คือ หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย หลักสูตรการประถมศึกษา หลักสูตรวิชาสามัญศึกษา หลักสูตรอาชีวศึกษา หลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่และการศึกษาตลอดชีวิต และหลักสูตรการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ ทั้งนี้ในการปรับหลักสูตรการผลิตครูนั้น สภาคณบดีฯเห็นว่า เนื่องจากหลักสูตรฐานสมรรถนะของศธ.ยังไม่มีเนื้อหาสาระที่ชัดเจนเกี่ยวกับหลักสูตรการผลิตครูและมีผลกระทบต่อระบบการผลิตครู ซึ่งครูจะต้องได้รับคำตอบที่ชัดเจน รศ.ดร.สมบัติ ประธานคณบดีฯจึงได้ทำหนังสือสอบถามไปยัง น.ส.ตรีนุชว่า จากที่ให้ข่าวว่าจะมีการชะลอการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ เรื่องนี้มีการหารือหรือยัง ผลออกมาเป็นอย่างไรบ้าง ตอบมาให้ชัดเจน เพราะตอนนี้สภาคณบดีฯได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาให้เร่งทำหลักสูตรBig Rock ที่ระบุไว้ในกฎหมายฉบับปัจจุบัน จึงอยากได้รับความชัดเจนเพื่อไม่ให้การผลิตครูสวนทางกับโรงเรียน
“นอกจากนี้ สภาคณบดีฯได้มีหนังสือถึง ศธ.ว่า หลักสูตรฐานสมรรถนะ ได้มีการยกร่างมาแล้ว 3 ครั้ง แต่ละครั้งมีความแตกต่างกัน โดยครั้งแรก มี 10 สมรรถนะ ครั้งที่ 2 มี 5 สมรรถนะ และครั้งที่ 3 มี 6 สมรรถนะ ซึ่งแต่ละครั้งมีสาระของหลักสูตรแตกต่างกัน จึงไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนที่จะนำไปเป็นพื้นฐานจัดทำหลักสูตรการผลิตครูได้ และ ยังสอบถามไปที่ สพฐ.ว่า หลักสูตรฐานสมรรถนะใหม่ นักเรียนจำเป็นต้องรู้อะไร หลักสูตรจะมีสาระความรู้อะไรบ้างที่เป็นความรู้พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับนักเรียน สอบถามไปยังคุรุสภา ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ออกหลักเกณฑ์และทำการทดสอบ ประเมินสมรรถนะวิชาชีพ เพื่อออกใบประกอบวิชาชีพ ว่า จะมีการกำหนดวิชาเอกเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่และเป็นอย่างไร เนื่องจากหลักสูตรฐานสมรรถนะยังไม่มีการกำหนดรายละเอียดเนื้อหาวิชาเฉพาะ รวมทั้งในการฝึกปฏิบัติการสอนวิชาเฉพาะหรือวิชาเอกตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา จะฝึกสอนกันอย่างไร ยังเหมือนเดิมหรือไม่ ถ้าเปลี่ยนไปจากเดิมจะต้องสอนเนื้อหาสาระอะไร”อดีตคณบดีฯกล่าวและว่า นอกจากนี้ยังสอบถามไปยัง อว.ว่า ได้มีการปรับหรือปรับมาตรฐานคุณวุฒิสาขาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ให้สอดคล้องกับหลักสูตรฐานสมรรถนะของ สพฐ.หรือไม่ อย่างไร เนื่องจากปัจจุบันได้มีการกำหนดรายวิชาเอกที่สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเอาไว้ และยังสอบถามไปที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)ซึ่งมีหน้าที่กำหนดมาตรฐานตำแหน่งและจัดสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการครู ว่า จะกำหนดรายวิชาที่สอบบรรจุเข้ารับราชการครูแบบเดิมหรือไม่ จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร หรืออยู่ ๆ ก็จะมีการประกาศรับบรรจุครูสอนสมรรถนะ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการปรับปรุงหลักสูตรวิชาชีพครูแต่ละครั้ง จะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ดังนั้นสภาคณบดีฯจึงต้องได้คำตอบที่ชัดเจน
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 8 กันยายน 2564