เมื่อเร็วๆ นี้ นายอัลลัน แม็คคินนอน เอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย ได้กล่าวว่า “ตามที่สถานทูตออสเตรเลีย ได้ร่วมกับมูลนิธิเอเชียประจำประเทศไทย ได้จัดทำเว็บพอร์ทัลการเรียนรู้บนโลกออนไลน์ ภายใต้ชื่อ www.thailandlearning.org โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 นับเป็นช่วงที่ยากลำบากที่สุดในประวัติศาสตร์ของการศึกษาไทย เด็กๆ ทั่วประเทศต้องปรับตัวในด้านการเรียนการสอน ซึ่งได้เปลี่ยนมาเป็นในรูปแบบออนไลน์ ดังนั้นการมีเว็บไซต์ที่ได้รวบรวมแหล่งเรียนรู้ต่างๆ จึงเป็นเป็นประโยชน์แก่โรงเรียนมาก ถึงแม้จะไม่สามารถแทนที่ประสบการณ์ของการเรียนรู้ได้ แต่ก็เป็นทางเลือกในการสอนนักเรียน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้อาจถือว่าเป็นความโชคดีสำหรับการศึกษาในประเทศไทย เพราะต่อไปในอนาคตผมค่อนข้างมั่นใจว่ามันจะมีบทบาทมากขึ้น โดยช่วงเริ่มต้นของโควิดมีนักเรียนจำนวนมากที่ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ แต่เนื่องจากยังมีเว็บไซต์นี้อยู่จึงทำให้เขาได้เรียนรู้ และได้ความนิยมมากขึ้น แม้ว่าการระบาดของโควิดจะสิ้นสุดลง ผมก็ค่อนข้างมั่นใจว่าเว็บไซต์นี้จะยังคงมีบทบาทสำคัญในห้องเรียน โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งให้คุณครูไปยืนสอนอยู่หน้าห้อง เพื่อบรรยายเหมือนในห้องเรียนแบบเดิม ๆ แล้ว ครูจะสามารถผสานรวมสื่อสมัยใหม่และแหล่งข้อมูลดิจิทัลเพื่อให้นักเรียนรู้สึกตื่นเต้นกับมัน ผมคิดว่าเรากำลังมุ่งไปสู่ระบบไฮบริดที่ผสมผสานซึ่งเป็นระบบที่จะมีความออนไลน์มากกว่าและมีทรัพยากรที่พร้อมกว่า ส่วนรายละเอียดวิธีการนำเสนอนั้นอาจต้องมีการ ศึกษากันในอนาคตอีกครั้งครับ”
ด้าน ดร.รัตนา แซ่เล้า เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและวิจัย มูลนิธิเอเชียประจำประเทศไทย ได้กล่าวว่า “www.thailandlearning.org จัดทำขึ้นโดยมีเนื้อหาที่หลากหลายจากทั่วโลก มีทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ครอบคลุมทุกวิชาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ สามารถใช้บริการได้ 24 ชั่วโมง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ, แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ภายในแบ่งเป็น 3 เมนู คือ 1)เรียนรู้ จะรวบรวมข้อมูลเว็บไซต์เกี่ยวกับการศึกษาไทยและต่างประเทศ แยกตามสาขาวิชา อาทิ วิชาคณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์ 2)ทัศนศึกษา เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์หรือแหล่งเรียนรู้จากทั่วโลกผ่านหน้าจอ หรือ virtual tour ที่สามารถให้ความรู้นักเรียนได้มากกว่าในตำรา และ 3)เครื่องมือ เป็นการแนะนำเครื่องมือสำหรับสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ ซึ่งผู้ใช้จะสามารถร่วมทำแบบทดสอบ ที่เหมาะสำหรับนักเรียน ครู และผู้ปกครอง
ในส่วนของด้านเนื้อหาได้มีการปรึกษากับกระทรวงศึกษาธิการในเรื่องการบูรณาการ เพื่อหาแหล่งข้อมูลที่ดีจากทั่วโลก ซึ่งกุญแจที่สำคัญสำหรับเรื่องนี้ก็คือการเรียนรู้ส่วนบุคคล หรือตัวนักเรียนเอง ที่จะต้องมีส่วนร่วมทางออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ มีการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ดีและให้ความรู้ ด้านผู้ปกครองก็จะต้องมีความรับผิดชอบในการสร้างสภาพแวดล้อมที่บ้านให้มีคุณค่าต่อการเรียนรู้ เนื้อหาที่สนทนากันจะต้องไม่ไร้สาระ อาจเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับวิชาภาษาอังกฤษหรือวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะทำให้เด็กได้มีส่วนร่วม รู้สึกตื่นเต้น และสนุกกับการเรียน
โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดทำโครงการนำร่องไปแล้ว 2 แห่ง คือที่โรงเรียนสารคามพิทยาคม จ.มหาสารคาม และที่โรงเรียนวัดไทร (ถาวรพรหมานุกูล) เขตจอมทอง กรุงเทพ และกำลังจะจัดขึ้นเร็วๆ นี้ที่ จ.กาญจนบุรี และลำพูน ส่วนที่กรุงเทพมหานครได้มีการประสานงานเพื่อส่งเสริมให้มีกิจกรรมนี้ในโรงเรียน 437 แห่ง โดยผู้สนใจสามารถคลิกไปใช้บริการที่ www.thailandlearning.org ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป