[ขอให้รัฐบาลถอนร่าง พรบ.การศึกษา
ปรับปรุงและนำเข้าสภาพร้อมกับร่าง พรบ.ที่เกี่ยวข้องอีก 3 พรบ.]
1. จากการที่ ครม.เห็นชอบร่าง พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... เสนอให้ประธานรัฐสภา นำเข้าวาระการพิจารณารับหลักการ ซึ่งเป็นร่างที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ยกร่างขึ้นไว้ก่อนที่ กอปศ. สิ้นวาระการปฏิบัติงานไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับไปรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและรวบรวมข้อเสนอแนะและข้อสังเกต สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ได้นำร่างไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไข แต่พบว่า ไม่ได้แก้ไขแต่ประการใด องค์การครูกว่า 300 องค์กรได้ออกมาเรียกร้องให้แก้ไขหลายประการ ล่าสุด สคก. ได้แก้ไขเพียงข้อความ 3 ข้อความ ส่วนรายละเอียดให้ไปอยู่ในกฎหมายลูกแทนและ ครม. เห็นชอบให้เสนอเข้าพิจารณาในรัฐสภา (เรื่องจากเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศตามหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญ 2560) ทั้งนี้ องค์กรครูเห็นว่า การแก้ดังกล่าวไม่เป็นผลให้สาระของกฎหมายเปลี่ยนแปลงไปตามที่ต้องการอย่างมากและยังกังวลใจว่ากฎหมายลูกจะออกมาเป็นเช่นไร จึงออกมาคัดค้านอย่างเต็มที่ มีการรวบรวมรายชื่อหลายแสนคนเพื่อคัดค้านร่าง พรบ.นี้
2. ในขณะที่ พรรคก้าวไกลได้เสนอร่าง พรบ. นี้ ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 แต่นายกรัฐมนตรีไม่ให้การรับรองร่าง พรบ. เดียวกันนี้ที่พรรคได้ปรับปรุงแก้ไขจากร่างของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร อันเป็นร่างที่ผ่านการร่วมกันของคณะอนุกรรมาธิการ (อนุ กมธ.) ที่มาจากองค์การครูทุกฝ่าย มีการรับฟังความเห็นจากเวทีการประชุมของผู้เกี่ยวข้องคือ องค์กรครู นักเรียน นิสิตนักศึกษา ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป หลายเวที สอดคล้องกับที่องค์กรครูเรียกร้องเกือบทุกประการ
3. นอกจากองค์กรครูทั่วประเทศ ยังพบว่ามีกลุ่มนักเรียนเลว กลุ่มเยาวชนปฏิวัติการศึกษาออกมาคัดค้านด้วย เพราะเห็นว่ามีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเรียนรู้อยู่มาก ไม่ได้มีการคุ้มครองผู้เรียนอย่างที่ควรจะเป็น เป็นการศึกษาเพียงเพื่อล้างสมองเท่านั้น
4. เมื่อพิจารณาร่างของ พรบ.ของรัฐบาล (สคก.) จะพบว่า. ยังขาดความสมบูรณ์อยู่หลายประการ เป็นการร่างที่ยังไม่ตกผลึก ทำให้สถานภาพ เสรีภาพ สิทธิประโยชน์ ของครูด้อยค่าลง มาตรฐานครูต่ำลงไม่มีความเป็นวิชาชีพ อีกทั้ง ร่างดังกล่าวมีการจำกัด สิทธิเสรีภาพในการเรียนรู้ เป็นกฎหมายกำหนดกรอบเพื่อควบคุมให้ครูและนักเรียนอยู่ภายใต้ความคิดของรัฐบาลชุดปัจจุบันเท่านั้น ซึ่งจะทำให้เป็นอุปสรรคต่อความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของชาติต่อไป และยังจำกัดอิสรภาพทางวิชาการ รูปแบบวิธีการสอนของครู อีกด้วย มีการกำหนดการบริหารจัดการเป็นไปในลักษณะการรวมศูนย์อำนาจ ไม่มีความชัดเจนหรือไม่เปิดทางโครงสร้างไว้ว่าจะเป็นอย่างไร จะทำให้โรงเรียนมีอิสระได้จริงหรือไม่ หากประกาศใช้จะทำให้เกิดปัญหาสับสนวุ่นวายอย่างแน่นอน
5. อย่างไรก็ตาม ร่าง พรบ.นี้ ยังพบสิ่งที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีอยู่พอสมควร
6. กระผม ขอเรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่าง ดังกล่าวนี้ ออกไปเพื่อไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง ปรับปรุงแก้ไขให้เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย จึงนำเสนอเข้ามาอีกครั้ง
ทั้งนี้ ก่อนปรับปรุงร่างขอเสนอให้มีการรับฟังความเห็นและช่วยกันกำหนดหรือหาคำตอบของคำถามต่อไปนี้ให้ชัดเจนก่อน เช่น คือ 1) การศึกษาคืออะไร เพื่ออะไร 2) คนไทย นักเรียนนิสิตนักศึกษาจะได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาอย่างไร เป็นอิสระ เสรีภาพ เสมอภาคเท่าเทียมกันหรือไม่ ได้รับการศึกษาที่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากน้อยเพียงใด และที่สำคัญจะได้นำศักยภาพและพรสวรรค์มาใช้ตามฝันหรือไม่อย่างไร 3) ครูจะเป็นวิชาชีพหรือเป็นอาชีพ คุรุสภาเป็นสภาวิชาชีพหรือองค์ครู 4) โครงสร้างจะเป็นแบบรวมศูนย์หรือกระจายอำนาจ และกระจายเป็นไปในระดับใดอย่างไร 5) กระทรวง/ส่วนราชการ ภูมิภาค จังหวัด อำเภอ หรือเขตพื้นที่ และสถานศึกษาจะเป็นอย่างไร 6) หน่วยงานหรือองค์คณะบุคคลใดจะเป็น หน่วยกำหนดนโยบาย หน่วยกำกับนโยบายบังคับบัญชา หรือหน่วยปฏิบัติการบ้าง และรูปแบบการใช้อำนาจเดี่ยวหรือองค์คณะถ้าเป็นองค์คณะจะเป็นกี่ภาคี 7) ครูของสถานศึกษาของรัฐและ อปท. จะเป็นข้าราชการหรือไม่ 8)จะมีคณะกรรมการบริหารงานบุคคลกลางของข้าราชการครูหรือไม่ และจะมีบัญชีเงินเดือนเป็นของข้าราชการครูเป็นการเฉพาะหรือไม่ 9) ครูในสถานศึกษาของรัฐและ อปท. เทียบเคียงข้าราชการอื่นหรือเหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง 10) มีระบบวิทยฐานะหรือไม่ 11) ต้องมีการตรวจสอบ มีส่วนร่วมและถ่วงดุลหรือไม่ 12) สถานศึกษาต้องมีอำนาจอะไรบ้าง 13) หลักสูตร มีสัดส่วนหลักสูตรแกนกลาง ท้องถิ่นหรือสถานศึกษา เท่าใด 14) สถานศึกษาของเอกชนจะเป็นการแบ่งเบาภาระขอรัฐหรือจะเป็นไปเพื่อเกิดการแข่งขันตามกลไกการตลาด
เป็นต้น
7. ตามที่ องค์กรครูมีความกังวลว่ากฎหมายลูกจะไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น กระผมจึงขอเสนอให้รัฐบาล นอกจากจะปรับปรุงแก้ไขร่าง พรบ.นี้ ขอให้รัฐบาลเร่งรีบยกร่างและเสนอร่าง พรบ.ที่เกี่ยวข้องอีกอย่างน้อย 3 พรบ. ได้แก่ พรบ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พรบ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และร่าง พรบ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้วย ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลได้เสนอร่าง พรบ.ดังกล่าวทั้งสามนี้เข้าอยู่ในผ่านประธานสภาและเข้าสู่กระบวนการรับรองของนายกรัฐมนตรีไว้ ด้วยแล้ว
รศ.ดร.สุรวาท ทองบุ
สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
2 กค. 64