การปฏิบัติงาน…เพื่อองค์การมีประสิทธิภาพ
รัตนาพร อรทัย
ด้วยผู้เขียนกำลังศึกษาระดับปริญญาโท สาขาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ณ สถานีบริการและสารสนเทศบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี มีความสนใจศึกษาเรื่อง “ความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนเทพศิรินทร์ สังกัดสำนักงานเขต
พื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1”
การพัฒนาประเทศในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 เป็นยุทธศาสตร์ที่ชี้กรอบทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะปานกลาง ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ระยะยาวและมีการดำเนินการต่อเนื่องจากแผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 8 ในด้านแนวคิดที่ยึด “คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา” ในทุกมิติอย่างเป็นองค์รวมและให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่สมดุลทั้งด้านตัวคน สังคมเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างระบบบริหารจัดการภายในที่ดีให้เกิดขึ้นในทุกระดับขององค์การต่อการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มี “คน” เป็นศูนย์กลางได้อย่างแท้จริง
การศึกษามีความสำคัญและจำเป็น มุ่งพัฒนาคนให้มีศักยภาพในการพัฒนาตนเองและ
พัฒนาประเทศ ให้มีความรู้ความสามารถ คิดอย่างมีระบบ วิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ตัดสินใจแก้
ปัญหาของตนเองได้ ลงมือทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามความรู้ความสามารถของตนเองได้ มีคุณธรรม
จริยธรรม สามารถเลือกรับหรือปรับตัวให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพความเปลี่ยนแปลงด้าน
เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยีได้ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ 2542 : 5) มาตรา 6 กล่าวว่าการจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
ปัจจัยที่จะช่วยให้บุคคลทำงานประสบผลสำเร็จก็คือ ความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน
ผู้ปฏิบัติงานที่มีความพึงพอใจในการทำงานย่อมปฏิบัติงานได้สำเร็จและได้ผลดีมากกว่าคนที่ไม่มีความพอใจในการทำงาน ไม่ว่าปัจจัยนั้นจะมาจากสาเหตุใด ผู้บริหารที่ฉลาดจึงควรพยายามที่จะศึกษาให้ลึกซึ้งถึงปัจจัยและองค์ประกอบที่ทำให้เกิดความพึงพอใจ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารงานให้เกิดประโยชน์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ปัจจัยจูงใจเป็นองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับเรื่องงานโดยตรง เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าในการทำงานประกอบไปด้วยปัจจัยต่างๆ ดังนี้
1. ความสำเร็จ (Achievement) หมายถึง การที่บุคคลทำงานบรรลุผลสำเร็จตามจุดมุ่งหมาย หรือจบกระบวนการในแต่ละเรื่อง ซึ่งรวมทั้งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เป็นที่พอใจของตัวผู้ปฏิบัติงานเองและผู้บังคับบัญชา
2. การยอมรับ (Recognition) หมายถึง การได้รับการยอมรับนับถือ ยกย่อง ชมเชย รับรู้ หรือแสดงความยินดี เชื่อถือในความสำเร็จของงาน จากผู้บังคับบัญชา ผู้ร่วมงาน และผู้ที่เกี่ยวข้อง
3. งานที่ทำ ( Work) หมายถึง ลักษณะของงานว่าเป็นงานที่ยาก – ง่าย น่าสนใจ ต้อง
อาศัยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์หรือท้าทายหรือไม่
4. ความรับผิดชอบ (Responsibility) หมายถึง ความพึงพอใจที่เกิดขึ้นจากการได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานและมีอำนาจในงานที่รับผิดชอบอย่างเต็มที่
5. ความก้าวหน้าและความเจริญเติบโต (Advancement)หมายถึง การได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น การมีโอกาสได้ศึกษาความรู้เพิ่มเติม
6. นโยบายและการบริหารงาน (Policy and Administration) หมายถึง การจัดการหรือการบริหารงานขององค์การและการติดต่อสื่อสารในองค์การ
7. สภาพการทำงาน (Working Condition) ได้แก่ สภาพทางกายภาพของงาน เช่น แสง เสียง อากาศ ชั่วโมงการทำงาน และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น อุปกรณ์หรือเครื่องมือต่างๆ
8. ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal Relation) หมายถึง ความสัมพันธ์อันดีกับผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา และเพื่อนร่วมงานอื่นๆ ในองค์การ สามารถทำงานร่วมกันและเข้าใจซึ่งกันและกัน
9. ค่าจ้าง - เงินเดือน (Salary) หมายถึง จำนวนรายได้ประจำหรือรายได้พิเศษที่เป็นผลตอบแทนจากการทำงานของบุคคลในหน่วยงาน
10. ความมั่นคงในงาน (Job Security) หมายถึง ความรู้สึกของบุคคลที่มีต่อความยั่งยืน มั่นคงของอาชีพ หรือความมั่นคงขององค์การความพึงพอใจหากเกิดขึ้นที่ใดแล้วที่นั่นย่อมเต็มไปด้วยความตั้งใจในการทำงาน การให้ความร่วมมือกับหน่วยงาน และบรรยากาศที่ดีในองค์การ การศึกษาความสำคัญของปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเพื่อจะได้นำปัจจัยเหล่านี้มาเป็นเครื่องช่วยในการจูงใจให้เกิดความพึงพอใจในงานนั้น
การจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพได้นั้น ต้องอาศัยองค์ประกอบหรือปัจจัยหลาย
ประการ องค์ประกอบที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งคือ ครู เพราะครูเป็นบุคคลสำคัญยิ่งในการพัฒนาการเรียนการสอน คุณภาพของคนจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของครูเป็นสำคัญในการที่จะช่วยสร้างสรรค์ทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณค่าและเหมาะสมกับบริบทด้านการเมือง เศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรม ดังนั้น ครูจึงนับเป็นบุคคลสำคัญยิ่งที่จะทำให้การจัดการศึกษาหรือดำเนินการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์ต่อตัวนักเรียนอย่างแท้จริง
การทำงานให้ประสบความสำเร็จ
“รู้จักตน รู้จักคน รู้จักงาน และคอยสำรวจตน ค้นผู้อื่น ตื่นอยู่เสมอ ไม่เผลอใจ” แล้วท่านจะ
“ประสบความสุขความสำเร็จในการทำงาน”
(ท่านพุทธทาส อินทปัญโญ)