จดหมายเปิดผนึก ถึง รมต.กระทรวงศึกษาธิการ นางสาวตรีนุช เทียนทอง
จาก รองศาสตราจารย์ ดร.สุรวาท ทองบุ สส.พรรคก้าวไกล ระบบบัญชีรายชื่อ
กรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร
เรียน รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ
ด้วยกระผมมีข้อเสนอเพื่อการแก้ปัญหาในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 และก้าวสู่ความปกติใหม่ของการศึกษาในยุคศตวรรษที่ 21 และยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ใน 5 ประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้
ประเด็นที่ 1
ให้จัดกิจกรรมการเรียนในสถานการณ์โควิด – 19
เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนโดยทันทีที่เปิดเรียน ทุกคนและอย่างต่อเนื่อง เพื่อเข้าสู่ปกติใหม่ อย่างแท้จริง แม้ไม่มีสถานการณ์ใด ๆ
1. จัดให้นักเรียนได้เรียนในทุกวัน ทุกเวลาและทุกสถานที่ โดยสามารถเลือกรูปแบบที่เหมาะสมหรือที่ผู้เรียนและผู้สอนมีความพร้อม
2. จัดให้มีชุดการเรียนรู้ต้นแบบในรูปแบบ Online ให้ผู้เรียนและผู้สอนเลือกเรียน โดยที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องจัดให้มีชุดการเรียนรู้ต้นแบบ เพื่อให้ผู้เรียนผู้สอนสามารถเลือกใช้ ทันที โดยการคัดเลือกครูที่มีทักษะความสามารถด้านเทคนิค หรือทักษะทางด้านดิจิทัล ร่วมกับครูที่มีความรู้ในเนื้อหาและมีทักษะการจัดกิจกรรมที่สามารถเป็นแบบอย่างได้ ร่วมกันสร้างชุดการเรียนรู้ ที่สามารถเรียนและสอน ได้ในรูปแบบออนไลน์ ได้ ในขณะที่สามารถสร้างเครื่องมือ (Materials) ซึ่งได้แก่ เนื้อหา สื่อการเรียนการสอน แบบฝึก ใบงาน ใบความรู้ เกมดิจิทัล คลิปวีดิโอ (วีดิทัศน์) คลิปเสียง ลิงค์เว็บไซต์ แบบทดสอบ แบบประเมินและเกณฑ์การให้คะแนน ฯลฯ ทั้งนี้ อยู่ในรูปแบบดิจิทัลและเป็นไปในลักษณะของบทเรียนโปรแกรมสำเร็จรูป (Online Course Programmed Learning) อาจรวมอยู่ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อการเรียนการสอน ทั้งนี้ หากมีความพร้อมในการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ แล้ว เราจะสามารถสร้างเครื่องมือในการเรียนการสอนในรูปแบบอื่น ๆ ได้ เช่น On Site, On Demand, On Air,และ On Hand เพราะเป็นเนื้อหา (Contents) เครื่องมือ (Materials) เดียวกัน หรือต่างกันเพียงจัดให้อยู่ในรูปแบบที่ต่างกัน จะทำให้เรามีต้นแบบการบทเรียนในทุกรูปแบบ ทั้งนี้ จะเป็นประโยชน์มากสำหรับครูในโรงเรียนขนาดเล็ก ครูที่ต้องรับผิดชอบสอนควบชั้นหลาย ๆ วิชาในแต่ละวัน ไม่มีเวลาในการเตรียมการสอน ทั้งนี้ บทเรียนต้นแบบรูปแบบ Online สามารถสร้างทีละ 1-2 สัปดาห์ ใช้สอน และสร้างเพิ่มขึ้นไป สอนไปเรื่อย ๆ จนจบเนื้อหาในภาคเรียน หรือในปีการศึกษา ปีถัดไปสามารถแก้ไข เพิ่มเติมปรับปรุงให้สมบูรณ์ขึ้นได้
3. จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ จัดตั้งโครงสร้างเครือข่ายอินเตอร์เน็ต รวมทั้ง กระแสไฟฟ้า ให้นักเรียนที่ไม่สามารถเรียนด้วยระบบอื่นได้นอกจาก Online หรือไม่สามารถเข้าเรียนในห้องเรียนของสถานศึกษาได้ ทั้งนี้ เฉพาะโรงเรียน ผู้เรียนที่มีความขาดแคลน และไม่สามารถเรียนด้วยรูปแบบอื่น
4. จัดวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ ในการสอนในรูปแบบอื่น ๆ ในรูปแบบดิจิทัล นอกจากรูปแบบ Online ให้ผู้สอนและผู้สอนเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพของสถานการณ์ ผู้สอนและผู้เรียน ผู้ปกครองสามารถดาวโหลด ได้
5. ให้ปรับปรุง แก้ไขระเบียบว่าด้วยการประเมินผลการเรียน โดยยกเลิกเกณฑ์เวลาในการเข้าเรียนในห้องเรียน และทดแทนด้วยการเรียนด้วยรูปแบบอื่น หรือการทำกิจกรรม หรือส่งผลงานจากการเรียน โดยเน้น สมรรถนะที่เกิดจากการเรียนรู้ (Competency base Assessment) ผ่านการประเมินที่หลากหลายรูปแบบและวิธีการ
6. จัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ในขณะเดียวกัน คณะทำงานด้านการปรับปรุงหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน และการประเมิน ก็ดำเนินการควบคู่กันไป และอาจใช้ในระยะปกติต่อไป
ประเด็นที่ 2
การกำหนดเปิด-ปิดสถานศึกษา แบบช่วง วันแรก - วันสุดท้าย
1. ให้กำหนดเพียงวันแรกและวันสุดท้ายของปีการศึกษา โดยกำหนดวันแรกที่เปิดเรียนและวันสุดท้าย โดยคำนึงถึงการดำเนินการปลายปี และเตรียมเปิดปีการศึกษาใหม่ ส่วนระหว่างทางให้เป็นอำนาจตามข้อ 2
2. ให้อำนาจของพื้นที่และสถานศึกษา กำหนดวันเปิด-ปิดระหว่างภาคหรือระหว่างปี โดยผู้บริหารโรงเรียน ครู อาจารย์ กรรมสถานศึกษา และเขตพื้นที่ อาจร่วมกับจังหวัด กรณี สังกัด สพฐ. ตัดสินใจเปิดปิดการเรียนการสอน โดยให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้ทุกรูปแบบ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายรูปแบบพร้อมกันได้ ในขณะที่มีระเบียบการประเมินใหม่ ที่ตัดเกณฑ์เวลาเรียนในชั้นเรียนออกไป
ประเด็นที่ 3
เร่งแก้ไขปัญหาครู ผู้บริหาร และบุคลากรทุกกลุ่ม
1. ครูไม่ครบชั้น เกิดจากไม่มีอัตราครู หรือมีอัตราแต่ไม่สามารถบรรจุได้ หมดบัญชี ไม่สามารถรับย้ายได้ การสอบบรรจุไม่ทันเวลาในการใช้ครู มีผู้ผ่านการสอบบรรจุครูผู้ช่วยน้อย ไม่สามาถจัดการสอบคัดเลือก หรือสอบแข่งขันได้ ซึ่งไม่ควารมีการปล่อยให้ตำแหน่งว่าง ๆ นับหมื่นคนตลอดปีการศึกษา
2. โรงเรียนขาดผู้บริหาร เกิดจากไม่มีอัตราให้บรรจุ เนื่องจากนักเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ หรือกรณีมีอัตราว่างแต่ไม่สามารถบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้ายได้ เนื่องจากไม่บัญชีผู้สอบขึ้นบัญชีไว้ หรือมีบัญชีแต่ยังไม่ได้เข้ารับการพัฒนาก่อนแต่งตั้ง ไม่สามาถจัดหรือเข้ารับการพัฒนา ได้ การพิจารณาย้ายล่าช้าในกระบวนการ รวมทั้ง ปัญหาในหลักเกณฑ์และวิธีการต่าง ๆ ซึ่งไม่ควรปล่อยให้ตำแหน่งว่างหลายปี หลายพันโรงเรียน
3. ขาดบุคลากรสนับสนุนอื่นในโรงเรียน เช่น นักการภารโรง ธุรการโรงเรียน พี่เลี้ยงเด็กพิการ เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ ครูผู้ทรงคุณค่า ครูอัตราจ้างในผลผลิต กิจกรรม โครงการต่าง ๆ ถูกตัดอัตราไป รวมทั้งจะมีการเลิกจ้าง
4. ปัญหาเงินเดือนของลูกจ้างตามข้อ 3 ต้องจ้างโดยการการจ้างเหมาบริการ และงบประมาณไม่เพียงพอ ต้องเจียดจ่ายจากงบค่าดำเนินงานของกิจกรรม โครงการต่าง ๆ มาจัดสรร โดยไม่สามารถจ่ายได้ต่อเนื่อง ต้องทำสัญญากระท่อนกระแท่นทีละ 1- 4 เดือน และยังไม่ออกไปตรงเวลา ไม่ต่อเนื่อง ลูกจ้างเหล่านี้จะขาดขวัญกำลังใจอย่างมาก ในขณะที่ไม่มีสวัสดิการอื่นใดเลย
5. เร่งแก้ปัญหา ทบทวน หลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนดใหม่ หลายหลักเกณฑ์และวิธีการ ล้วนมีปัญหาทั้งสิ้น โดยเฉพาะระยะเปลี่ยนผ่าน และการบังคับอันเป็นโทษย้อนหลัง ซึ่งไม่ควรกระทำ ตลอดทั้ง หลักเกณฑ์และวิธีการ ที่เกี่ยวกับการย้าย บรรจุ แต่งตั้ง การประเมินวิทยฐานะที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน และเพิ่มทับถมขึ้นอีก (จาก ว. ต่าง ๆ) ทำให้เกิดผลกระทบในการปฏิบัติงานของบุคลากร กระทบขวัญกำลังใจ ขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ส่งผลต่อคุณภาพการเรียนการสอนและคุณภาพผู้เรียนในที่สุด
ประเด็นที่ 4
การเลิก ยุบ หรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ปรับโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล โรงเรียนคุณภาพของชุมชน โรงเรียนดีสี่มุมเมือง โรงเรียน Stand Alone
1. ชะลอหรือหยุดคิดเรื่อง การยุบ เลิก หรือควบรวม โรงเรียนขนาดเล็ก ไว้ก่อน หากยังไม่มีวิธีที่ดีที่สุดและยอมรับของสังคม และชุมชนในเขตบริการของโรงเรียน
2. หยุดวิธีบีบ บังคับ โรงเรียนขนาดเล็ก ด้วยวิธีไม่จัดสรรอัตรากำลัง ครู ผู้บริหาร ภารโรง ธุรการ และลูกจ้างตำแหน่งต่าง ๆ ไม่จัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนา (งบลงทุน งบดำเนินงาน งบอุดหนุน และงบอื่น) ซึ่งทำให้โรงเรียนขาดแคลนปัจจัยในการเรียนการสอน ผู้ปกครองไม่เชื่อมั่นเป็นเหตุให้ขอย้ายนักเรียนไปสู่โรงเรียนที่มีความพร้อมกว่า
3. ให้หลอมรวมโครงการโรงเรียนคุณภาพของชุมชน เข้ากับโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล โรงเรียนดีสี่มุมเมือง ซึ่งตำบลหนึ่งมีหนึ่งโรงเรียน หรือหลายตำบล หรือบางส่วนของตำบลต่าง ๆ รวมเป็น ชุมชน กล่าวคือ ให้ใช้ชื่อโครงการเป็น “โรงเรียนคุณภาพประจำตำบลหรือชุมชน” และพัฒนาหรือทุ่มงบประมาณ โรงเรียนให้ครบ ทุกตำบลหรือชุมชนไปพร้อมกัน (น่าจะประมาณ 7-8,000 โรงเรียน) โดยเกลี่ยงบประมาณ ที่จัดสรรให้โรงเรียนละ 30 ล้านบาทสำหรับโรงเรียนคุณภาพของชุมชน โรงเรียนละ 30 ล้านบาท โรงเรียนดีสี่มุมเมือง โรงเรียนละ 20 ล้านบาท เป็นจัดสรรใหม่ให้เท่าที่จำเป็นทั้ง 7-8,000 โรงเรียน ทั้งนี้ เลิกคิดและเชื่อว่า ทุ่มงบประมาณ 30 ล้านบาทลงไปในโรงเรียน 349 โรงเรียน แล้วจะดูดนักเรียนมาเข้าเรียน และสกัดกั้นไม่ให้นักเรียนเดินทางไปเรียนโรงเรียนยอดนิยม ซึ่งหากเชื่อเช่นนี้ จะใช้เวลาถึง 20 ปี จึงจะทั่วถึงทุกตำบลหรือชุมชน อีกทั้ง ให้ตัดลดงบประมาณ ในโครงการโรงเรียน Stand Alone โดยดำเนินการต่อไปแต่ตัดลงงบประมาณ จากที่กำหนดให้ได้รับงบประมาณ โรงเรียนละ 10 ล้านบาท
ทั้งนี้ ให้เปลี่ยนแปลงงบประมาณ งบลงทุนของ สพฐ. ให้เป็นไปตามที่เสนอข้อ 1-4 (ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่เสนอเข้าสภา สามารถแปรญัตติ ลดหรือตัดทอนรายการและจำนวนลงได้ แล้ว ให้กระทรวงและรัฐบาล เสนอแปรญัตติขึ้นมาใหม่
ประเด็นที่ 5
ชะลอ ร่าง พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... ออกร่าง พรบ.ปรับแก้คำสั่ง 19/2560 และเร่ง ร่าง พรบ. อื่นที่เกี่ยวข้องอีก 3 พรบ.
1. ขอให้ให้ความเห็นใน ครม. ขอให้มีมติ ชะลอการเสนอร่าง พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...... ฉบับรัฐบาล ที่มีปัญหาผิดหลักการทางวิชาชีพ หลักการทางวิชาการ และหลักการทางบริหารการศึกษาที่ควรเป็นและมีมาตรฐาน นำมาซึ่งการคัดค้านของครู ผู้บริหาร นักเรียน นักศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา ทั่วทั้งประเทศ
2. ขอให้สนับสนุน ร่าง พรบ.ปรับปรุงแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เพื่อแก้ปัญหาการขัดแย้ง ซ้ำซ้อน เพิ่มขั้นตอน ทำให้งานล่าช้า ขาดทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล สิ้นเปลืองงบประมาณ
3. ขอให้มีการยกร่างหรือปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม พรบ. ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ซึ่งต่อเนื่องกับ ร่าง พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... ที่สำคัญ จำนวนอีก 3 พรบ.เป็นอย่างน้อย ได้แก่ ร่าง พรบ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.... ร่าง พรบ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ... และร่าง พรบ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.... ซึ่งสามารถออกกฎหมายได้พร้อมกันทั้ง 4 พรบ. ได้ เป็นกฎหมายพวง ซึ่งเคยดำเนินการมาแล้ว เมื่อปี พ.ศ.2523 และ ปี 2542-2547 โดยประมาณ ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ได้ทำการศึกษาและยกร่าง เสร็จสิ้นแล้ว นำสู่เข้าสู่รัฐสภา แล้วสำหรับร่าง พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..... โดยสมาชิกสภาผู้แทน (มากกว่า 20 คน) และพร้อมที่จะนำเสนอสู่สภาผู้แทนราษฎร หรือรัฐสภา แล้ว สำหรับ 3 ร่าง พรบ. ที่เหลือ
จึงเรียนเสนอมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ
รองศาสตราจารย์ ดร.สุรวาท ทองบุ
สส.พรรคก้าวไกล ระบบบัญชีรายชื่อ
กรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร