บทความวิชาการเรื่อง ผลึกความรู้นิทรรศการวันครูสู่การปฏิบัติในสถานศึกษา
นายเดชาพัชร สมหมาย
ตำแหน่ง ครูผู้ช่วย โรงเรียนสุขสำราญราษฎร์รังสรรค์
นิทรรศการวันครูครั้งที่ 65 พ.ศ. 2564 จัดในประเด็นหัวข้อ “พลังไทยครูวิถีใหม่ ฉลาดอย่างรู้เท่าทันดิจิตอล”ซึ่งในครั้งนี้ได้จัดรูปแบบนิทรรศการออนไลน์ โดยมีการแบ่งออกเป็นสามส่วนหลักๆได้แก่ ปาฐกถา เสวนา และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบนิทรรศการ จากการได้เข้าชมนิทรรศการในแต่ละส่วน กระผมสามารถตกผลึกความรู้เพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติในสถานศึกษาได้ดังนี้
เนื่องจากคำว่า ครู หมายถึง ผู้อบรมสั่งสอนแนะนำ ผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญา เป็นผู้ที่มีหน้าที่สอน อบรมเกี่ยวกับวิชาความรู้ การอ่านเขียน รวมไปถึงการให้ความรู้และแนะนำในการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงาน ดังนั้นพลังครูจะสามารถช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยครูต้องทำให้เกิดการเรียนรู้องค์รวม (Holistic Learning) โดยหัวใจของการเป็นครูคือ การพัฒนาผู้เรียนทุกคนอย่างเท่าเทียม ในสถานการณ์ปัจจุบัน ครูต้องมีเป้าหมายที่ผู้เรียน ให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข และมีเป้าหมาย โดยเป้าหมายนั้นครูต้องทำให้มีเป้าหมายที่สูง องค์รวมและสามารถวัดได้ การที่ครูจะทำได้ดังกล่าวครูจำเป็นต้องใช้พหุปัญญา ที่ทำให้ผู้เรียนได้ค้นพบตัวเอง และมุ่งใช้ความฉลาดของตนเองไปในทางสร้างสรรค์ โดยใช้จิตวิทยาเชิงบวกของครู เคล็ดลับที่สำคัญที่จะเป็นตัวช่วยของครูให้ใช้พหุปัญญาให้มีประสิทธิภาพตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ มี ๒ อย่าง คือ ๑) การสร้าง Growth Mindset ให้แก่ผู้เรียน โดยให้ผู้เรียนฝึกฝนจนเกิดเป็นความรู้ที่คงทน และ๒) การจัดการเรียนรู้องค์รวม (Holistic Learning) โดยมีองค์ประกอบ ได้แก่ Heart (อารมณ์ เจตคติ) Head (สมอง ความรู้) และ Hand (ทักษะ การลองมือปฏิบัติ) โดยครูต้องมีการเปลี่ยนแปลงาตัวเองจากผู้สอนมาเป็นโค้ชผู้อำนวยการจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง
เมื่อครูเปลี่ยนจากรูปแบบการสอนมาเป็นการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้เพื่อเข้าใจไม่ใช่เรียนรู้เพื่อจดจำ และครูต้องระวังการเกิด Fixed Mindset กับตัวผู้เรียน ควรสอนให้ผู้เรียนค้นพบตัวเอง โดยใช้กระบวนการ 4P ได้แก่ Preparation (การกระตุ้นความสนใจให้ผู้เรียน โดยอาจการจัดการเรียนรู้แบบ Board-based Learning จะเป็นอีกวิธีที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองได้ เนื่องจากเป็นการสร้างความรู้ให้มีชีวิต กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการอยากเรียนรู้) Presentation (การนำเสนอโดยผู้เรียน ซึ่งครูเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ) Practice (การทดลอง ลงมือทำ ฝึกฝน) และ Project (การให้ผู้เรียนได้สร้างนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์จากความรู้และความคิดของผู้เรียน) และที่จะขาดไม่ได้คือครูต้องมีการสะท้อนกลับเพื่อให้ผู้เรียนได้ปรับปรุงและพัฒนา รวมถึงต่อยอดความคิดของตนเอง
สุดท้ายนี้ ในการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนทัศน์ใหม่นั้น คุณครูจำเป็นต้องจัดการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์ผู้เรียน โดยต้องจัดการเรียนรู้ที่เข้าใจผู้เรียน และสร้างองค์ความรู้ของผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ที่มีความสุขและบรรลุเป้าหมาย โดยคำนึงถึงการสร้าง Growth Mindset ให้แก่ผู้เรียน