รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายการศึกษา ในฐานะกำกับดูแลงานศธ. จ่อสลายแท่งโครงสร้างศธ. มีซี 11 หลายคน ฝันอยากเห็นการทำงานเป็นเอกภาพในระบบราชการ "บิ๊กตู่" ลั่นจัดการเด็ดขาดครูล่วงละเมิดทางเพศเด็ก
เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมมอบนโยบายและยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติงานให้แก่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการให้กำลังใจ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะเป็นรัฐมนตรีป้ายแดงคนใหม่ ซึ่งตนได้เห็น 12 นโยบายการศึกษาและ 7 นโยบายเร่งด่วนของน.ส.ตรีนุชแล้ว ซึ่งนโยบายดังกล่าวสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาล ซึ่งเป็นไปตามแผนงานของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมานายกฯกำชับเรื่องการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..ได้อยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา และนายกฯรับปากว่าอย่างช้าในเดือน มิ.ย. ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฏร ดังนั้นจึงขอฝาก ศธ.ให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีของรัฐบาลฉบับหนึ่งและของประชาชนอีกฉบับหนึ่ง โดยนายกฯมีข้อสั่งการให้บูรณการร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับเป็นฉบับเดียวกัน ดังนั้นเมื่อร่าง พ.ร.บ.รวมเป็นฉบับเดียวกันอาจถูกใจกระทรวงแต่ไม่ถูกใจประชาชน หรือไม่ถูกใจประชาชนแต่ไม่ตรงกับนโยบายรัฐบาล จึงฝาก ศธ.ให้ช่วยดูด้วย
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้นายกฯยังอยากเห็นการกำกับดูแลมาตรฐานจริยธรรมและคุณธรรมของครู โดยเฉพาะปัญหาล่วงละเมิดทางเพศนักเรียน ครูทำร้ายนักเรียน ซึ่งในประเด็นนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอยากมาก และมีมาตรการขั้นเด็ดขาดออกมาแล้ว ซึ่งเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบเรื่องแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ ดังนั้นหากพบข้าราชการคนใดกระทำพฤติกรรมที่เข้าข่ายการล่วงละเมิดทางเพศจะต้องให้ออกจากราชการเอาไว้ก่อนทันที พร้อมกับตั้งคณะกรรมการสอบสวน ขณะเดียวกัน ศธ.จะต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะสังคมอยากเห็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ทันสมัย โดยการเรียนการสอนจะต้องไม่ใช่การเรียนประวัติศาสตร์ที่มีแต่การสู้รบในอดีตเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ประเทศเพื่อนบ้านว่าเราเป็นญาติมิตรกับประเทศใกล้เคียงอย่างไรบ้าง รวมถึงการจัดการเรียนการสอนแบบแอคทีฟเลริน์นิ่ง ซึ่งจะต้องให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมร่วมไม่ใช่ท่องจำอย่างเดียว ทั้งนี้ นายกฯยังให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนอาชีวศึกษา ซึ่งวันนี้ตนได้รับฟังข้อเสนอจากศธ.แล้วว่าจะต้องสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้มาเรียนสายอาชีพได้อย่างไรบ้าง เช่น การเพิ่มเงินเดือนผู้จบอาชีวะ เป็นต้น ดังนั้นตนรับที่จะนำข้อเสนอเหล่านี้ไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
“สำหรับปัญหาโครงสร้างของศธ.นั้นมีการพูดถึงมาตลอด เพราะศธ.เป็นกระทรวงที่มีแท่งแบ่งการทำงานเป็นจำนวนมาก การที่ข้าราชการจะย้ายข้ามแท่งก็สร้างความยุ่งยาก รวมถึงยังมีผู้บริหารระดับ 11 ถึง 5 คนส่งผลให้ข้าราชการที่ทำงานไม่รู้จะฟังใครก่อน ดังนั้นปัญหาโครงสร้าง ศธ. ผมมีธงในใจแล้วว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งรับจะไปพิจารณา แต่ในตอนนี้ขอให้การทำงานใน ศธ.ได้สลายความเป็นแท่งออกให้หมด และทำงานกันอย่างมีเอกภาพ เชื่อมต่อการทำงานกันให้ได้มากที่สุด” ดร.วิษณุ กล่าว
ด้าน น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า นโยบายที่ ดร.วิษณุ ได้มอบหมายในทุก ๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องโครงการ ศธ. หรือแม้แต่เรื่องปัญหาระหว่างครูกับนักเรียน ร่วมถึงอีกหลาย ๆ เรื่อง ตนจะหารือผู้บริหารในแต่ละองค์กรหลักเพื่อร่วมกันแก้ไขและผลักดันไปสู่การปฏิบัติโดยเร็วที่สุด
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 5 เมษายน 2564