รองโฆษกรัฐบาล ยอมรับรัฐบาลกำลังหาทางพัฒนาบุคลากรรับโครงการอีอีซี หลัง สกพอ.ประเมิน 5 ปีข้างหน้า เอกชนมีความต้องการบุคลากรไทยในพื้นที่อีอีซี 4 แสนกว่าอัตรา
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงาน ได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบว่า ในปีงบประมาณ 2563 ได้ให้บริการจัดหางานแก่กลุ่มอุตสาหกรรมดั้งเดิม และอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (S-Curve) ทั้งหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ 28,000 คน แต่เมื่อดำเนินงานจริงสามารถจัดหางานได้มากถึง 40,464 คน คิดเป็น 144.51% ส่วนงานบริการแนะแนวอาชีพให้นักเรียน นักศึกษา ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 48,838 คน ผลการดำเนินงานเกินเป้าหมายเช่นกัน โดยมีจำนวน 70,401 คน คิดเป็น 144.15%
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญและติดตามการขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับการพัฒนาให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยเรื่องการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นปัจจัยสำคัญของโครงการอีอีซี ซึ่งกระทรวงแรงงานได้จัดตั้งศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 จ.ชลบุรี โดยร่วมมือกับหลายภาคส่วน”
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ประมาณการว่า ในระยะเวลา 5 ปี (2562-2566) ความต้องการของภาคเอกชนต่อบุคลากรไทยในพื้นที่อีอีซี จะมี 4 แสนกว่าอัตรา ทั้งในระดับอาชีวะและปริญญาตรี โดยที่ผ่านมา สกพอ. ได้ร่วมมือกับกระทรวงแรงงานและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สร้างหลักสูตรพัฒนาทักษะบุคลากรให้ตรงความต้องการภาคเอกชน (EEC Model) ควบคู่กับการสร้างแรงจูงใจแก่เอกชนที่รับนักศึกษาที่จบหลักสูตรนี้ คือจะได้รับการลดหย่อนภาษีด้วย
ส่วนการเตรียมพร้อมในระยะยาว กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอน วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (สสวท.) ขับเคลื่อนการเรียนการสอนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) อย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดอบรมพัฒนาครูสำหรับการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน และการส่งเสริมเด็กให้เรียนภาษาคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เพื่อสร้างทรัพยากรบุคคลให้ตรงกับความต้องการของภาคเอกชนในอนาคต
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม 2563