หลับคาเก้าอี้นวดไฟฟ้า ถึงพิการกระดูกเคลื่อน
โวยนั่งเก้าอี้นวดตัวละแสนในห้างปวดร้าวเส้นประสาท วอนควบคุมอันตรายแฝง นายกสภากายภาพบำบัดเตือน ห้ามนั่งหลับบนเก้าอี้นวดไฟฟ้า แรงโยกทำกระดูกสันหลังเคลื่อนที่ได้ คณะกรรมการอาหารและยาเตรียมใช้ พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์คุมเข้ม
ผู้สื่อข่าว "คม ชัด ลึก" ได้รับการร้องเรียนว่า ขณะนี้ห้างสรรพสินค้าส่วนใหญ่มีการนำเก้าอี้นวดไฟฟ้าและอุปกรณ์นวดไฟฟ้ามาวางขาย โดยชักชวนให้ลูกค้าทดลองใช้แล้วเกลี้ยกล่อมให้ซื้อ โดยอ้างว่ามีการรับรองความปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หลังจากทดลองใช้รู้สึกปวดเมื่อยกระดูกมาก รวมถึงมีผดผื่นขึ้นตามร่างกาย
นางวิมาดา (นามสมมติ) นักธุรกิจหญิงวัย 40 ปี ร้องเรียนว่า เมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ได้ไปทดลองนั่งเก้าอี้นวดไฟฟ้าราคาเกือบแสนบาท ที่แผนกกีฬาของห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่ง พนักงานขายให้นั่งบนเก้าอี้นวดไฟฟ้า (Massage Chair) ที่ตั้งโปรแกรมนวดหลัง ไหล่ และคอ อัตโนมัติ ช่วง 5 นาทีแรกรู้สึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อดี จากนั้นพนักงานก็นำเครื่องนวดทำลายไขมันมาทดลองใส่บริเวณเอว พร้อมเครื่องนวดฝ่าเท้าและน่องขา นอกจากนี้ ยังนำเครื่องนวดตามาให้ทดลองใช้ภายในเวลาเดียวกัน โดยรับรองว่าสินค้าทุกชนิดปลอดภัย ไม่มีอันตรายใดๆ
ตอนแรกก็นั่งแค่เก้าอี้นวด แต่คนขายคะยั้นคะยอให้ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องนวดอีกหลายชนิด พวกอุปกรณ์ทันสมัยต่างๆ เลยคิดว่าไม่เป็นไร เสียเวลานิดหน่อย แต่ได้ทดลองเครื่องนวดฟรีๆ ระหว่างนั้นพนักงานก็ชวนให้ซื้อ โดยบอกว่ามีส่วนลดพิเศษอะไรบ้าง จนสนใจเพราะบางชิ้นลดให้หลายสิบเปอร์เซ็นต์ ระหว่างที่ฟังสรรพคุณกับราคาก็นวดไปด้วย
ผ่านไปเกือบ 30 นาที คนขายก็แนะนำให้ไปนั่งเก้าอี้นวดไฟฟ้าตัวใหม่ ที่มีเทคโนโลยีระบบลูกกลิ้ง ระหว่างทดลองใช้ก็รู้สึกเคลิ้มสบาย แต่พอเครื่องหยุดแล้วต้องลุกออกมารู้สึกเวียนหัวนิดหน่อย เลยขอแผ่นพับไว้และคิดว่าอาจกลับมาซื้อ พอเดินออกไปที่แผนกอื่นได้ไม่กี่นาทีก็รู้สึกปวดตามกระดูก โดยเฉพาะที่แนวเส้นกระดูกสันหลัง แล้วปวดตัวขึ้นเรื่อยๆ จนกลางคืนต้องกินยาแก้ปวด นางวิมาดา กล่าว
เช่นเดียวกับผู้บริโภครายที่ร้องเรียนว่า ได้ทดลองใช้เครื่องนวดทำลายไขมันสะสมที่มีลักษณะเป็นหัวกลม มีปุ่มกลมมนที่สั่นสะเทือนหลังเปิดเครื่อง โดยมีการโฆษณาว่า สามารถป้องกันเซลลูไลท์และลดไขมันที่ท้องแขน ท้องขา เมื่อนำเครื่องนวดมาวางที่หน้าท้องเพียง 2 นาที ก็รู้สึกร้อนผ่าวและมีผื่นแดงขึ้น จึงรีบหยุดและปิดเครื่อง แต่ก็ยังรู้สึกร้อนอยู่และคันมาก พอผ่านไปประมาณ 2 ชั่วโมง อาการผื่นแดงก็หายไป เมื่ออ่านแผ่นพับก็ไม่มีคำเตือน หรือข้อควรระวังแต่อย่างใด
ด้านนางสุมนา ตัณฑเศรษฐี นายกสภากายภาพบำบัด อธิบายว่า สำหรับผู้ใช้เก้าอี้นวดไฟฟ้า หรือเครื่องนวดไฟฟ้าแล้วเกิดอาการเจ็บปวดที่กระดูกนั้น เนื่องจากปกติคนเรานอนแล้วมีวัตถุมาสอดไว้ที่บั้นเอว เมื่อร่างกายนอนกดทับลงไปจะรู้สึกสบาย เพราะมีการเกร็งตัวโดยธรรมชาติ แต่เมื่อเกร็งตัวนานๆ ก็เริ่มผ่อนคลาย หรือเคลิ้มหลับไป วัตถุที่นอนทับก็จะดันเนื้อหนังเข้าไปข้างใน หากดันตรงตำแหน่งของกระดูก กระดูกก็จะเกิดการเคลื่อนตัวด้วย หากผู้สูงอายุที่ข้อต่อเริ่มยึดติด หรือที่เรียกว่าหลังแข็ง การโยกไปมาจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่เอ็น หรือเนื้อเยื่อ อาจทำให้หมุนตัวไม่ได้ หรือถ้าบางรายอาการหนักก็จะกระทบเส้นประสาท ทำให้เสียวร้าวไปที่อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ทั้งนี้ เก้าอี้นวดไฟฟ้าไม่ใช่เครื่องมือทางกายภาพบำบัด ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข
สำหรับผู้ที่ทดลองใช้เครื่องสั่นสะเทือนที่อ้างสรรพคุณว่า ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หรือลดไขมันนั้น นายกสภากายภาพบำบัด กล่าวว่า ร่างกายที่ถูกทำให้สั่นสะเทือนไม่ว่าจะโดยวิธีใดก็ตาม โมเลกุลจะเกิดการเคลื่อนย้ายทำให้มีปฏิกิริยาเคมี ส่งผลให้การไหลเวียนโลหิตมีมากขึ้น เหมือนร่างกายที่โดนตีแรงๆ บริเวณนั้นจะแดง ถ้าแรงมากเส้นเลือดจะแตก หรือห้อเลือด อย่างไรก็ตาม การสลายไขมันโดยการสั่นสะเทือนนวดลดไขมันตามแขนขา ในทางวิชาการแล้วเป็นไปไม่ได้ เพราะไขมันที่อยู่ในร่างกายแม้ถูกกระตุ้นก็ไม่รู้จะย่อยสลายไปทางไหน นอกจากผ่าตัดดูดออกมาทิ้งเท่านั้น
"มีผู้มาติดต่อขอบริจาคเก้าอี้นวดไฟฟ้า แต่โรงพยาบาลไม่มีนโยบายรับ เพราะไม่รู้จะเอาไปทำอะไร และอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้ โดยเฉพาะกับคนแก่ที่กระดูกเริ่มยึดตัว ไม่มีการยืดหยุ่น หากมีการสั่นสะเทือนไปที่กระดูกสันหลังอาจทำให้เนื้อเยื่อบาดเจ็บ หรือข้อต่อเกิดการขยับเขยื้อน สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ควรหาวิธีควบคุมอุปกรณ์นวดไฟฟ้าเหล่านี้ และควรติดตามข่าวด้วยว่ามีประเทศใดห้ามใช้แล้ว หรือทำวิจัยเป็นงานวิชาการอย่างจริงจัง ถึงข้อดีข้อเสีย หรืออันตรายจากเครื่องมือต่างๆ เช่นเดียวกับการทำวิจัยยา ก่อนจะอนุญาตให้ขายผู้บริโภคได้" นางสุมนา กล่าว
ขณะที่ นายสุรเดช ใช่วิวัฒน์ ผู้จัดการบริษัท โมเดอร์นฟอร์ม เฮลท์แอนด์แคร์ ผู้นำเข้าเก้าอี้นวดไฟฟ้าและอุปกรณ์สินค้าเพื่อสุขภาพ ยอมรับว่า ในตลาดมีผู้ขายเก้าอี้นวดไฟฟ้าหลายประเภท ราคาตั้งแต่ 2 หมื่นบาท จนถึง 2 แสนบาท หากใช้อย่างผิดวิธีจะทำให้เกิดอาการเจ็บช้ำได้ โดยเฉพาะเก้าอี้นวดไฟฟ้าที่มีหัวนวดเป็นพลาสติกแข็ง และนั่งต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่วนเก้าอี้นวดของบริษัทจะมีคำเตือนในหนังสือคู่มือสำหรับผู้มีปัญหาด้านสุขภาพ ด้านกล้ามเนื้อ หรือระบบเส้นประสาท นอกจากนี้ ยังมีการตั้งระบบปิดอัตโนมัติทันทีภายใน 15 นาที ตามข้อมูลวิจัยของบริษัทผู้ผลิต โดยพนักงานขายจะแนะนำให้ลูกค้าใช้ได้ไม่เกินวันละ 15 นาที หากอยากใช้เกินกว่านั้นก็ต้องนวดช่วงเช้ากับช่วงเย็น
แพทย์หญิงยุวดี พัฒนวงศ์ ผู้อำนวยการกองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ยอมรับว่า ขณะนี้มีเครื่องมือแพทย์สมัยใหม่เข้ามาวางขายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์ที่นำไปใช้ในบ้านเรือน (Home Use) เช่น เก้าอี้นวดไฟฟ้า เข็มขัดไฟฟ้า เครื่องนวดสลายไขมัน เตียงกระแสไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่ง พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ฉบับเก่าที่ใช้มานานตั้งแต่ พ.ศ.2531 ไม่สามารถควบคุมกำกับดูแลเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ได้ เลยต้องร่าง พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ฉบับใหม่ขึ้นมา เพื่อควบคุมสถานที่จำหน่าย การขายตรง รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดกระแสบริโภคเครื่องมือแพทย์อย่างไม่ถูกต้อง หรือฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น และอาจมีผลให้สูญเสียโอกาสในการรักษา เนื่องจากละเลยการบำบัดรักษาโรคอย่างถูกต้อง
"กฎหมายฉบับใหม่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ปีที่แล้ว ขณะนี้รอประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพราะมีการร้องเรียนมากขึ้น ทั้งโฆษณาเท็จ หรือลักลอบนำเข้ามาขาย ซึ่งกฎหมายใหม่จะควบคุมเรื่องเหล่านี้อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ หากบริษัทใดได้รับการรายงานจากผู้ซื้อว่าเครื่องมือการแพทย์ของตนมีอันตรายก็ต้องแจ้งให้ อย.ทราบ ที่สำคัญหากมีการโฆาณาเกินจริง หรืออวดอ้างเท็จออกทีวี หรือสื่อใดๆ ก็ต้องมีการโฆษณาแก้ไขออกสื่อเดิมด้วย เพราะที่ผ่านมาบริษัทเหล่านี้จะยอมเสียค่าปรับ แต่ขออวดอ้างสรรพคุณเกินจริงออกทีวีให้คนเชื่อเสียก่อน นอกจากนี้ เครื่องมือการแพทย์ที่ราคาแพงหลายร้อยล้านบาท หากโรงพยาบาลใดจะสั่งซื้อก็ต้องผ่านการพิจารณาว่ามีความจำเป็น หรือสมควรซื้อหรือไม่ เป็นการฟุ่มเฟือยหรือเปล่า" ภญ.ยุวดี กล่าว
สำหรับเนื้อหาสำคัญของ พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ฉบับใหม่ คือ 1.เพิ่มมาตรการจดทะเบียนสถานประกอบการผลิตและนำเข้าเครื่องมือแพทย์ ทำให้มีฐานข้อมูลควบคุมเฝ้าระวังให้แก่ผู้บริโภคได้ทันสถานการณ์ 2.กำหนดประเภทเครื่องมือแพทย์ที่ต้องขายโดยมีใบสั่งแพทย์ หรือขายให้สถานพยาบาลเท่านั้น เครื่องมือแพทย์บางชนิดห้ามขายตรง และกำหนดให้มีด่านตรวจสอบการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ 3.ปรับปรุงบทบัญญัติในการเพิ่มประสิทธิภาพคุ้มครองผู้บริโภค เช่น ข้อบังคับด้านมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ การแสดงฉลาก การโฆษณา การรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้เครื่องมือแพทย์ เกณฑ์การพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาต บทบาทของภาครัฐในการป้องกัน หรือระงับอันตรายในการใช้เครื่องมือแพทย์ เช่น เรียกเก็บคืนสินค้าไม่ปลอดภัย