“สุรวาท ทองบุ” ตั้งข้อสังเกตุรัฐบาลให้ความสำคัญการศึกษาน้อยลง งบฯด้านการศึกษาปี 2564 น้อยกว่าปี 2563 มีความเหลื่อมล้ำ –รวมศูนย์-ซ้ำเติมวิกฤตโควิด-19 ไม่รองรับการจัดการเรียนการสอนวิถีใหม่
วันนี้(6 ก.ค.) รศ. ดร.สุรวาท ทองบุ กรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตนได้ตั้งข้อสังเกตุว่า การจัดตั้งงบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษา ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นั้น รัฐบาลให้ความสำคัญกับการศึกษาน้อยลง โดยในปี 2563 จากงบฯ ทั้งสิ้น 3.2 ล้านล้านบาท เป็นงบฯด้านการศึกษา 493,724 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 15.4 ส่วนปีงบฯ ปี 2564 ตั้งงบฯทั้งสิ้น 3.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1 แสนล้านบาท แต่กลับ เป็นงบฯด้านการศึกษา 484,151.4 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 14.7 ซึ่งลดลงจากปีงบฯ 2563
รศ.ดร.สุรวาท กล่าวต่อไปว่า เมื่อพิจารณาในงบฯด้านการศึกษาของปี 64 พบว่า มีความเหลื่อมล้ำ ไม่สอดรับ หรือเท่าทันต่อสถานการณ์โควิด 19 โลกศตวรรษที่ 21 และซ้ำเติมวิกฤต ที่ไม่สอดรับ New Normal รวมถึงยังมีรัฐราชการรวมศูนย์ และยังมีความเหลื่อมล้ำ โดยระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบ โรงเรียนขนาดเล็ก ถูกตัดงบฯค่าก่อสร้างอาคารเรียน และสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ แต่มีการจัดตั้งงบฯในโรงเรียนขนาดใหญ่ ส่วนระดับอุดมศึกษา มีการจัดประมาณในสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ หรือ นอกระบบ โดยได้รับงบฯ มากกว่าสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นส่วนราชการ 10-15 เท่า ในขณะที่มีจำนวนผู้เรียนเท่ากัน
"นอกจากนี้ยังเป็น รัฐราชการรวมศูนย์ โดยระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบการจัดตั้งงบฯเพื่อการพัฒนา เช่น การอบรมพัฒนาครู และพัฒนาด้านต่าง ๆ ไว้ที่ส่วนกลางแทบทั้งสิ้น สถานศึกษาไม่สามารถคิด จัดทำโครงการพัฒนาได้เอง ตามความต้องการและสอดคล้องกับปัญหาและบริบทของโรงเรียน ส่วนระดับอุดมศึกษา พบมีการตัดงบฯเพื่อการวิจัยของสถาบันอุดมศึกษา ไปไว้ที่ กองทุน ที่กำกับโดย อว. และจะนำไปจัดสรรให้สถาบันอุดมศึกษาภายหลัง ซึ่งไม่มีกระบวนการตรวจสอบและเห็นชอบจากผู้แทนราษฎร โดย อว. จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการจะจัดสรร” รศ.ดร.สุรวาท กล่าว
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ มี พ.ร.บ.โอนงบฯ ปี 2563 จาก ศธ. ไปเป็นงบกลาง เพื่อแก้วิกฤตโควิด 19 จำนวน 4 พันล้านบาท แต่ ไม่มีการจัดตั้งงบฯทดแทนในปี 2564 ซึ่งเป็นงบฯค่าก่อสร้างอาคารเรียน อาคารประกอบอื่น ทำให้ขาดห้องเรียน ต้องอยู่อย่างแออัด ซ้ำเติมสถานการณ์โควิด 19 อีกและไม่พบการจัดตั้งงบฯเพิ่มเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนที่มีทิศทางวิถีใหม่ ที่ควรจะเป็น คือ การเรียนรู้ผ่านระบบเครือข่ายหรือออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น โครงสร้างพื้นฐานสัญญาณอินเทอร์เน็ต ซอฟท์แวร์ แพลทฟอร์ม บทเรียนออนไลน์ (Online Courses) ครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ รวมทั้ง การอบรมพัฒนาครูและบุคลากรเพื่อให้สามารถสร้างบทเรียนออนไลน์และจัดการเรียนการสอนวิถีใหม่ หรือ New Normal แต่อย่างใด
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม 2563