สอนภาษาอังกฤษแบบไม่ต้องสอนคืออะไร ไขข้อข้องใจได้ที่นี่
ไม่ว่าจะสอนภาษาอังกฤษยังไง๊...ยังไง เด็กนักเรียนก็ยังพูดไม่ได้สักที ไม่ว่าจะสอนแกรมมาร์กี่ร้อยบท หรือจ้างคุณครูต่างชาติกี่สิบคน เด็ก ๆ ก็ทำได้แค่ แอมฟาย แต้งกิ้ว แอนด์ยู้ จะให้ต่อบทสนทนาเท่ ๆ เหมือนที่เราเห็นกันในหนังก็คงเป็นเพียงแค่ฝัน คุณครูอย่างเราก็ได้แต่เหนื่อยใจ พาลคิดไปว่าความสามารถในการสอนของเราคงจะยังไม่เข้าขั้นละมั้ง
ถ้าที่สอนกันในห้องเรียนตามปกติมันไม่เวิร์ค...ลองมาทำความรู้จักกับรูปแบบการ “สอน” ภาษาอังกฤษโดย “ไม่สอน” ภาษาอังกฤษที่เว็บไซต์
StartDee เรียบเรียงมากันดูมั้ย ถ้าอยากรู้ว่าคืออะไร ตามอ่านกันต่อได้เลย
รู้จักวิธีการสอนภาษาอังกฤษแบบไม่สอนกับศาสตราจารย์ Roberto Guzman
ศาสตราจารย์ Roberto Guzman ผู้สอนภาษาอังกฤษ ณ University of Puerto Rico at Mayagüez ในเปอร์โตริโก สังเกตว่า แม้เด็กนักเรียนในคลาสของเขาจะทำได้ดีในการเขียนบทความ หรือการสอบแกรมมาร์ แต่พอเรียกให้สนทนา เด็ก ๆ กลับเกิดอาการพูดไม่ออกบอกไม่ถูก ดังนั้น เขาจึงล้มเลิกหลักสูตรแบบเก่า แล้วหันมาใช้วิธีใหม่ที่คิดขึ้นเอง ซึ่งประกอบด้วย 3 ขั้น ดังนี้
1. สอนให้เด็กตั้งคำถามเสมอ
ไม่ว่าจะได้อ่าน ได้ยิน หรือได้ฟังใครพูดอะไร ต้องเน้นให้เด็ก ๆ รู้จักที่จะ “ตั้งคำถาม” และดูตรรกะของสิ่งที่เรารับมาเสียก่อน เมื่อเด็ก ๆ มีคำถามในหัวแล้ว เด็ก ๆ จะรู้ว่าตัวเองจะพูดอะไร ย่อมทำให้เด็ก ๆ สื่อสารได้อย่างฉะฉานและตรงไปตรงมา แม้จะผิดแกรมมาร์ หรือดูไม่เป็นรูปประโยคไปบ้าง แต่ตรงจุดนี้ คุณครูอย่างเราสามารถแก้ไขให้ได้
อาจลองเริ่มจากตัวอย่างง่าย ๆ เช่น “Everybody knows that cats are smarters than dogs.” เราก็น่าจะได้ยินเสียงตอบกลับมาว่า No! Dogs are smarters! จากฝั่งนักเรียนที่รักหมา และอาจได้ยินว่า Yes! And cats are cuter. ถ้าเด็ก ๆ ลืมพูด Verb to be หรือใช้ผิดเป็น more cute เราก็สามารถแก้ได้ทันที
2.หลอกให้เด็ก “อิน” จนลืมว่าอยู่ในชั้นเรียน
ลองหยิบยกสถานการณ์หรือตัวอย่างที่ใกล้ตัวเด็ก ๆ มาพูด อย่างเรื่องเกม เรื่องกีฬาสี หรือเรื่องรุ่นพี่รุ่นน้องที่น่าตาดีในโรงเรียนก็ยังได้ ขั้นนี้คุณครูอย่างเราต้องทำตัวเป็นเด็กนิดนึง เด็ก ๆ จะได้รู้สึกอินกับเนื้อหา และรู้สึกว่าเราเป็นพวกเดียวกับเขาไงล่ะ
3.สอนให้เด็กรู้ว่า “ความผิดพลาด” ไม่ใช่เรื่องแย่
Roberto Guzman มักพูดอยู่เสมอว่าคนเราไม่ควรกลัวความผิดพลาด และควรจะผิดให้เยอะ ๆ เลย ซึ่งสิ่งนี้น่าจะยากสำหรับการเป็นคุณครูไทย แต่เราสามารถนำไปปรับใช้เวลาตั้งคำถามกับเด็ก ๆ ถ้าพวกเขาตอบผิดเราควรให้กำลังใจ หรือแม้แต่ชื่นชมในความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขา และถ้าเราฟังที่เด็กพูดไม่รู้เรื่อง ก็แค่ค่อย ๆ ช่วยกันคิด ค่อย ๆ เรียบเรียงเป็นประโยคออกมา รับรองว่าเด็ก ๆ จำได้แม่นกว่าท่องหนังสืออีกนะ
สำหรับศาสตราจารย์ Roberto Guzman แนวทางการสอนแบบนี้ ทำให้บรรยากาศในชั้นเรียนดีขึ้นมาก ๆ เด็ก ๆ ต่างก็พูดคุยกันอย่างสนุกสนาน ส่งผลให้พวกเขาไม่หวาดกลัวภาษาอังกฤษ และใช้ได้ถูกต้องมากขึ้น คุณครูท่านไหนนำไปใช้แล้ว มาแอบกระซิบบอกผลลัพธ์กันบ้างนะคะ