นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่าตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าได้มอบหมายให้ สพฐ.ไปศึกษาถึงแนวทางในเรื่องการเพิ่มเขตพื้นท่ีการศึกษามัธยมศึกษา ว่า “เขตพื้นท่ีการศึกษามัธยมศึกษาจะไม่ใช่ 42 เขต และก็จะไม่ใช่ 77 เขต โดยจะพิจารณาจากจำนวนโรงเรียนและระยะทาง” นั้น เห็นว่าเรื่องการเพิ่มเขตพื้นท่ีการศึกษามัธยมศึกษาให้ครบทุกจังหวัด ดังกล่าว ส.บ.ม.ท. ได้เรียกร้องมานานแล้วและเรียกร้องโดยตลอดให้เพิ่มเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ( สพม.)ให้ครบทุกจังหวัดเนื่องจากการมี สพม. ไม่ครบทุกจังหวัดมีผลกระทบต่อคุณภาพการจัดการศึกษามัธยมศึกษาเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากนักเรียนที่เรียนอยู่ในโรงเรียนที่อยู่ในจังหวัดที่มิได้เป็นที่ตั้งของ สพม. ล้วนได้รับการบริการทางการศึกษาที่ด้อยกว่าโรงเรียนที่มีที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของ สพม. จึงเป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ปรากฏชัด และยังมีผลกระทบต่อข้าราชการครู ผู้ปกครอง นักเรียนหรือประชาชนทั่วไปที่ต้องเดินทางไกลและเดินทางลำบากหากต้องการติดต่อราชการกับ สพม. นอกจากนี้การพิจารณาให้มี สพม. ให้ครบทุกจังหวัดนั้นเป็นข้อเรียกร้องและเป็นแนวคิดมาร่วมสิบปีแล้ว โดยมีพัฒนาการดังนี้
1. เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2555 นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ว่าในการประชุมผู้บริหาร สพฐ. นายวรวัจน์ เอื้อภิญญากุล รมว.ศธ. เห็นชอบให้เพิ่มเขตพื้นท่ีการศึกษามัธยมศึกษาให้ครบทุกจังหวัด เป็น 78 เขต โดยเป็นจังหวัดละ 1 เขต แต่ กทม ให้เป็น 2 เขต และในเรื่องอัตรากำลังที่ต้องเพิ่มขึ้น ให้เกลี่ยอัตรากำลังจากเขตพื้นที่เดิม
2. เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้สัมภาษณ์กับสื่อมติชนว่า สพฐ.ได้แต่งตั้งคณะทำงานหนึ่งชุดโดยมีนายณรงค์ แผ้วพลสงค์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธาน เพื่อศึกษาเรื่องแยกเขตพื้นท่ีการศึกษามัธยมศึกษา (สพม) เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันท่ีมีอยู่ 42 เขต โดยให้คณะทำงานดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
3. เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 สภาการศึกษามีมติให้มีการเพิ่มเขตพื้นท่ีการศึกษามัธยมศึกษา อีก 36 เขต โดยยึดเขตปกครองจังหวัดเป็นพื้นฐาน โดย สพฐ. ได้เสนอให้ใช้วิธีเกลี่ยกรอบอัตราทรัพยากรทั้งด้านวัสดุ อุปกรณ์ สิ่งก่อสร้างรวมทั้งบุคคลากร
4.เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานให้สัมภาษณ์สื่อมติชนว่า “หากมีการเพิ่ม สพม.อีก 36 เขต จะต้องเพิ่มตำแหน่งผู้อำนวยการ สพม.อีก 36 ตำแหน่ง ซึ่ง สพฐ จะใช้วิธีการปรับปรุงอัตรากำลังภายในที่มีอยู่โดยไม่ขอเพิ่มอัตรากำลัง ส่วนตำแหน่งรองผู้อำนวยการ สพม.นั้น โดยหลักการขณะนี้ เขตพื้นที่มีรองผู้อำนวยการ สพม.ละ 3 คน รวม 108 ตำแหน่ง ฉะนั้น สพม.ที่เพิ่มขึ้นมาใหม่จะต้องมีรองผู้อำนวยการ เขตละ 3 คน เช่นเดียวกัน ส่วนระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ สพฐ. เสนอว่าจำนวนบุคคลากรจะเป็นไปตามความเหมาะสม โดยดูจากขนาดของเขตพื้นที่ฯ ซึ่งแต่ละเขตฯจะมีไม่เท่ากัน
5. เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2562 นายสุเทพ ชิตวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้สัมภาษณ์สื่อเดลินิวส์ว่า “ปัจจุบันเรามีโครงการที่เกี่ยวข้องกับระดับมัธยมศึกษาหลายโครงการเช่นสะพานเชื่อมโยงการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานกับการอาชีวศึกษาเป็นต้น ดังนั้นผมคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมี สพม. ให้ครบทุกจังหวัด เพื่อให้การทำงาน การบริหารและการขับเคลื่อนงานระดับมัธยมศึกษาให้เดินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและไม่มีปัญหาติดขัด”
7. วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์สื่อมติชนว่าตนได้มอบหมายให้ สพฐ. ไปศึกษาแนวทางการเพิ่มเขตพื้นท่ีการศึกษามัธยมศึกษา โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากจำนวนครู นักเรียน ระยะทางการคมนาคม แม้มีนักวิชาการออกมาให้ความเห็นว่าควรมี สพม. ให้ครบ 77 จังหวัด ให้สอดคล้องกับโครงสร้างใหม่ที่จะมีการตั้งอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษาจังหวัด(อ.ก.ค.ศ.จ.)ให้ครบทุกจังหวัดเพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายในเรื่องการบริหารงานบุคคล นั้นส่วนตนคิดว่าแม้จะมี สพม.ไม่ครบ 77 จังหวัด ก็จะไม่เกิดความวุ่นวาย แต่เบื้องต้นตัวเลขสำหรับ สพม ไม่ใช่ 42 เขตอย่างปัจจุบันแต่ก็ไม่ใช่ 77 เขตเช่นเดียวกัน ดังนั้นอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ เพื่อพิจารณาปรับปรุงให้เหมาะสม
นายรัชชัยย์ฯ กล่าวว่าจากข้อมูลข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นจึงเห็นว่าแนวคิดในเรื่องของการเพิ่มให้มี สพม.ให้ครบทุกจังหวัดนั้นมีมานานแล้ว มีการศึกษาวิเคราะห์เหตุผลความจำเป็นแล้วเห็นว่าการมี สพม. เพียง 42 เขตมีผลกระทบโดยตรงต่อความเหลื่อมล้ำและคุณภาพทางการศึกษารวมถึงเรื่องการเดินทางติดต่อราชการเป็นอย่างยิ่ง
การเพิ่ม สพม. ให้ครบ 77 จังหวัดจะเป็นการแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาและการติดต่อราชการ ที่สำคัญคือเรื่องนี้สภาการศึกษาก็มีมติตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 เห็นสมควรให้กระทรวงศึกษาธิการประกาศเพิ่มเขตพื้นท่ีการศึกษามัธยมศึกษาให้ครบทุกจังหวัด แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของสภาการศึกษาที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานแต่อย่างใด กรรมจึงต้องตกอยู่กับนักเรียน ผู้ปครองและข้าราชการครูที่เกี่ยวข้อง คุณภาพการศึกษาจึงตกต่ำ ปัญหามิได้อยู่ที่ทรัพยากรไม่เพียงพอแต่ปัญหาอยู่ที่การบริหารจัดการ
นอกจากนี้นายรัชชัยย์ฯ ยังเห็นว่าการที่ รมว.ศธ. ให้ สพฐ ไปทำการศึกษาแนวทางการเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา นั้น เป็นการดำเนินการที่ซ้ำซ้อนกับสิ่งที่ได้ทำไปแล้วเมื่อครั้งที่นายบัญรักษ์ ยอดเพชร เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะทำงานก็ได้ทำงานเสร็จสิ้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2561 การดำเนินการเช่นนี้อาจทำให้สังคมมองได้ว่าเป็นการซื้อเวลา ไม่มีความจริงใจที่จะเพิ่มเขตพื้นท่ีการศึกษามัธยมศึกษาให้เป็นเขตจังหวัดอย่างแท้จริง
“การเรียกร้องครั้งนี้สมาชิก ส.บ.ม.ท.มิได้มีผลประโยชน์โดยตรงอะไรอันเป็นการส่วนตัวแต่ห่วงใยคุณภาพการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่ตกต่ำลงเนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นอกจากนี้ที่ผ่านมา ศธ. มีการตัดสินใจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารงานของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการอย่างรวดเร็วโดยไม่มีการศึกษาวิเคราะห์เหตุผลความจำเป็นให้ปรากฎทางสังคม เช่นการเสนองบประมาณสร้างสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดหลายร้อยล้านบาท การตัดโอนอัตรากำลังของ สพฐ. ไปเป็นอัตรากำลังของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดหลายพันอัตราทั้งๆที่ควรนำอัตรากำลังดังกล่าวไปใช้ในเรื่องงานด้านการเรียนการสอนของนักเรียนโดยที่หลายพันโรงเรียนขาดแคลนครู
ที่น่าเสียใจคือสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดซึ่งมีภาระงานน้อยกว่างานด้านการจัดการศึกษาของเขตพื้นท่ีการศึกษา ยังสามารถจัดตั้งจนครบทุกจังหวัดได้ แล้วเหตุใดจึงมีความเห็นไม่ควรให้มี สพม.ให้ครบทุกจังหวัด อย่างไรก็ตามหาก รมว.ศธ. มีความจริงใจที่จะให้มีการเพิ่มเขตพื้นท่ีการศึกษามัธยมศึกษา ก็ขอความเมตตาได้โปรดกำหนดวันเวลาหรือห้วงเวลาที่จะประกาศเพิ่มเขตพื้นท่ีการศึกษามัธยมศึกษาให้ชัดเจนเพื่อให้ชาวมัธยมศึกษาได้เห็นความหวังต่อไป” นายรัชชัยย์ ฯ กล่าวในที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.)