การแพร่ระบาดของไข้หวัดหมู (Swine influenza) เป็นความสำเร็จก้าวสำคัญของสงครามระหว่างมนุษย์กับเชื้อโรค และเป็นการยืนยันความจริงที่ว่าโรคอุบัติใหม่-อุบัติซ้ำที่สำคัญและมีโอกาสคร่าชีวิตมนุษย์ ติดต่อได้กว้างขวาง เป็นโรคที่มาจากสัตว์สู่คนเกือบทั้งสิ้น แม้จะผ่านตัวกลาง เช่น ยุง ริ้น เห็บ หรือไม่ก็ตาม
ไข้หวัดหมู ไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก
พัฒนาการของเชื้อโรคที่จะเข้าสู่คน แบ่งเป็น 5 ระดับ คือ
1.เชื้อโรคอยู่ในสัตว์และไม่เคยติดต่อมายังคน เช่น เชื้อมาลาเรียในลิง (Relchenowl malaria)
2.มีการติดต่อจากสัตว์สู่คน แต่หยุดเพียงคนคนนั้น โดยไม่มีการแพร่จากคนสู่คน เช่น โรคพิษสุนัขบ้าจากสุนัข
3.เริ่มมีการข้ามสายพันธุ์ โดยไวรัสจากสัตว์ชนิดหนึ่งถ่ายทอดไปยังสัตว์อีกชนิดและแพร่ไปยังคน เช่น โรคอีโบล่า (Ebola) ที่มีแหล่งรังโรคในค้างคาวแพร่ไปยังลิง และส่งต่อถึงคน โดยมีการติดต่อจากคนสู่คน แต่อยู่ในวงจำกัด เนื่องจากโรคมีความรุนแรงมากในคนและผู้ติดเชื้อเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วจนไม่สามารถส่งต่อไปคนอื่นๆ อีก
4.เชื้ออยู่ในสัตว์ได้หลายชนิด ขึ้นกับสภาวะภูมิอากาศ ความแห้งแล้ง หรืออุดมสมบูรณ์ เช่น ไวรัสในตระกูลไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบ โดยอาจแฝงในลิงหรือสัตว์ขุดรูต่างๆ และมียุงเป็นพาหะกัดคน และเมื่อคนมีจำนวนไวรัสหรือเชื้อโรคมากขึ้น ก็จะถูกยุงกัด และนำเชื้อไปให้คนอื่นอีก ซึ่งเห็นได้ชัดในโรคไข้เลือดออก และเป็นสาเหตุให้ต้องพยามกำจัดยุงในบริเวณบ้านคนที่เป็นไข้เลือดออก
5.มีวิวัฒนาการในสัตว์จนสุกงอม และติดต่อไปยังคน และติดเชื้อในคนได้อย่างสมบูรณ์กระทั่งมีการติดต่อระหว่างคนสู่คนได้สำเร็จ ไม่ต้องอาศัยสัตว์อีกต่อไป เช่น โรคเอดส์จากเชื้อ HIV ที่มีต้นกำเนิดมาจากลิง
สำหรับไข้หวัดหมู พัฒนาการอาจอยู่ในระดับที่ 5 ซึ่งต่อจากนี้จะมีการแพร่ระหว่างคนสู่คน แต่จะมีประสิทธิภาพเพียงใดขึ้นกับการปรับตัวของไข้หวัดหมูในมนุษย์ โดยโรคนี้พบตั้งแต่ ค.ศ.1918-1919 ในช่วงที่ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu) มีการระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลก แต่ผู้เสียชีวิตส่วนมากจะอายุ 20-40 ปี และตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งต่างจากไข้หวัดใหญ่ทั่วไป (Seasonal Flu) ที่เล่นงานเด็กเล็กและคนแก่เป็นส่วนมาก แต่คล้ายคลึงกับไข้หวัดหมูที่เราเผชิญอยู่ขณะนี้ ในช่วงนั้นมีการพบไข้หวัดในหมูเช่นกัน (J.S. Koen) และจวบจน ค.ศ.1930 จึงได้มีการแยกเชื้อได้ (Shope และ Davis) ไข้หวัดหมูยังเป็นหมูแท้ๆ อยู่อีก 80 ปี โดยไม่มีลูกผสมเป็น 3 เกลอ (พันธุกรรมหมู นก คน) ดังเช่นปัจจุบัน แต่ถึงกระนั้นก็ก่อให้เกิดโรคในคนอยู่เนืองๆ มากกว่า 50 ราย เช่น ในสหรัฐ 19 ราย เชโกสโลวะเกีย 6 ราย เนเธอร์แลนด์ 4 ราย รัสเซีย 3 ราย แคนาดาและฮ่องกงอีกแห่งละ 1 ราย โดยผู้ป่วย 61% มีประวัติสัมผัสหมูและมีอายุเฉลี่ย 24 ปี หลังจากนั้นใน ค.ศ.1974 ไข้หวัดหมู (ล้วน) มีการพัฒนาโดยเกิดโรคในค่ายทหาร (Fort Dix) ที่รัฐนิวเจอร์ซี่ (New Jersy) มีผู้ป่วย 13 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยที่อีก 230 ราย ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการแต่น้อยมาก ทั้งหมดนี้ไม่มีประวัติสัมผัสหมู ซึ่งแสดงว่าน่าจะมีการพัฒนาจนมีการติดต่อจากคนสู่คน
การติดต่อในค่ายทหาร ทำให้มีการฉีดวัคซีนไข้หวัดหมูให้ประชาชนทั่วไป แต่พบว่าช่วงที่มีการฉีดวัคซีนมีผู้ป่วยเส้นประสาทอักเสบแขน ขาอัมพาต ทำให้ต้องล้มเลิกการใช้วัคซีน และข้อมูลสรุปของการเกิดอัมพาตอาจยังคลุมเคลือจนปัจจุบัน ใน ค.ศ.1988 มีผู้หญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต โดยมีประวัติสัมผัสหมูในรัฐวิสคอนซิน (Wisconsin) และเริ่มสงสัยว่าไข้หวัดหมูอาจไม่ใช่พันธุ์หมูล้วน (classic H1N1) จวบจน ค.ศ.1998 จึงได้มีการพิสูจน์พบว่า หมูเลี้ยงในสหรัฐ มีไวรัสไข้หวัดหมูกลายพันธุ์ โดยมีพันธุกรรมผสมระหว่างหมู คน และนก เกิดสายพันธุ์ผสม (Triple assortant virus) H3N2, H1N2, และ H1N1 (วารสารโรคติดเชื้อ JID 2008) และสายพันธุ์ผสมนี้ยังพบได้ในเอเชีย และแคนาดา
ไข้หวัดหมูผสมสายพันธุ์ใหม่ พบได้ในประเทศสเปน (H1N1) เดือนพฤศจิกายน 2008 เป็นหญิงอายุ 50 ปี มีการไข้ ไอ เหนื่อย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คันคอ และคันตา และหนาวสั่น ผู้ป่วยหายเองโดยไม่ต้องการการรักษาใดๆ โดยที่ผู้ป่วยทำงานในฟาร์มหมูและสัมผัสใกล้ชิดหมู ไม่มีคนใกล้ชิดในละแวกมีการติดเชื้อ ข้อสรุป ณ ขณะนั้น ยังไม่คิดว่าไข้หวัดหมูแม้เป็นสายพันธุ์ผสมแล้วจะมีอันตรายมากนัก (Eurosurveillance ฉบับ 19 กุมภาพันธ์ 2009) อย่างไรก็ดี เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดมาก่อนในรัฐวิสคอนซิน วันที่ 7 ธันวาคม 2005 ชายอายุ 17 ปี มีอาการไข้หวัดใหญ่ แต่หายเองใน 3-4 วัน มีการติดเชื้อไข้หวัดหมูลูกผสม H1N1 โดยผู้ป่วยไม่ได้มีการสัมผัสกับหมูหรือไก่ที่บริเวณบ้าน และในระหว่างช่วงเดียวกันมีรายงานการติดเชื้อลูกผสมในแคนาดาใน ค.ศ.2005 และ 2007
เห็นได้ว่าไวรัสไข้หวัดหมูมีการพัฒนาตัวเองมาตลอด แต่สิ่งที่ยากคือ หมูที่ติดเชื้อไม่จำเป็นต้องแสดงอาการเจ็บป่วยก็ถ่ายทอดเชื้อได้ สำหรับหมูในประเทศไทย ขณะนี้แม้จะมีเชื้อลูกผสมวนเวียนและไม่เป็นอันตรายอยู่ก็ตาม แต่ยังคงต้องเกาะติดสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง
คอลัมน์ ส่องโรค ไขสุขภาพ
โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกไวรัสสัตว์สู่คน
ข้อแนะนำตามขั้นตอนพึงปฏิบัติเป็นประจำทุกวันเพื่อปกป้องสุขภาพของ
ตัวคุณเอง ดังต่อไปนี้
1. ใช้กระดาษทิชชูปิดจมูกและปากของคุณเมื่อไอ หรือจาม และทิ้งกระดาษทิชชูที่ใช้แล้วลงในถังขยะที่มีฝาปิดหลังการใช้ทันที
2. ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ หรือล้างด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ (เช่นเจลล้างมือ) บ่อยๆ โดยเฉพาะหลังการไอ หรือ จาม
3. พยายามหลีกเลี่ยงการพบปะ และสัมผัสกับผู้ป่วย ถ้าหากป่วยเป็นหวัดควรหยุดพักอยู่บ้าน เพื่อจำกัดการพบปะผู้อื่น เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
4. หลีกเลี่ยงการสัมผัสตา จมูก หรือ ปาก เพราะเชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายทางอวัยวะเหล่านี้ได้
ดร. โจ เบรสซี ได้กล่าวว่า ประชาชนยังไม่จำเป็นต้องเป็นกังวลกับการจัดเตรียมและรับประทานเนื้อหมู เช้อไวรัสไข้หวัดสุกรนี้ไม่สามารถแพร่กระจายได้ทางอาหาร อนึ่งการรับประทานเนื้อหมูที่ผ่านการเตรียมที่ดีและผ่านการปรุงสุกจะช่วยให้มีความปลอดภัยจากเชื้อโรคนี้และเชื้อโรคอื่นๆได้ดียิ่งขึ้น
สถานการณ์ในเม็กซิโกยังน่าเป็นห่วง!
ขอบคุณภาพจากเว็บไซท์ NHK
วันนี้สำนักข่าว NHK ของญี่ปุ่นได้รายงานข่าวสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดสุกรในประเทศเม็กซิโกไว้ว่า จากการแถลงข่าวของรัฐบาลเม็กซิโกวานนี้ (25 เม.ย.) พบว่ามีผู้ป่วยที่อยู้ในข่ายสงสัยว่ามีการติดเชื้อไวรัสไข้หวักสุกรจำนวนมากกว่า 1,300 คน และมีผู้เสียชีวิต 81 คน รัฐมนตรีกระทรวงสุขภาพ (The Health Ministry) ได้กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตที่สงสัยว่ามีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดสุกรมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 13 คน เป็น 81 คน และผู้ป่วยที่ยังอยู่ในข่ายที่สงสัยว่าจะติดเชื้อไวรัสไข้หวัดสุกรนี้ เพิ่มขึ้นอีก 300-1,324 คน ซึ่งอยู่ระหว่างรอการพิสูจน์ มีผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันว่าเสียชีวิตจากไข้หวัดสุกรเพียง 20 คน
ในความพยายามควบคุมโรคไข้หวัดสุกรนี้ ประธานาธิบดี Felipe Calderon ได้ประกาศข้อบังคับ ให้อำนาจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสุขภาพในการแยกผู้ป่วยออกจากชุมชน จัดหาและแจกจ่ายยา และออกตรวจตราบ้านเรือน ตลอดจนอาคารต่างๆ โรงเรียนทั้งหมดในเมืองเม็กซิโกซิตี ถูกประกาศหยุดเรียน งานจัดแสดง งานอี-เว้นต์ต่างๆมากกว่า 550 งาน เช่นงานคอนเสิร์ทถูกยกเลิก ห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะ เป็นเวลา 10 วัน ขณะที่บุคคลากรทหารกำลังจัดหาและแจกจ่ายหน้ากากป้องกันการกระจายเชื้อ (แบบที่ใช้ในการผ่าตัด)
การดำเนินการของ WHO
ขอบคุณภาพจากเว็บไซท์ NHK
เมื่อวานนี้ The World Health Organization หรือ WHO ได้ประกาศให้การระบาดไข้หวัดสุกรเป็นสภาวะกาณ์ด้านสาธารณสุขเร่งด่วนของข้อตกลงนานาชาติ หลังจากประชุมเร่งด่วนเป็นเวลา 3 ชั่วโมง WHO ได้กล่าวว่า ในการที่จะบอกว่าการระบาดของเชื้อไข้หวัดสุกรนั้นจะแพร่กระจายไปทั่วโลกหรือไม่นั้น จำเป็นที่ต้องมีข้อมูลที่มากขึ้น ในถ้อยแถลงหลังการประชุมระบุว่า WHO กำลังแจ้งให้ทุกประเทศกำหนดมาตรากระการควบคุมดูแลสถานการณ์การระบาด พร้อมกับแนะนำให้ตรวจสอบว่าอาการของโรคเหมือนอาการหวัดหรือ
ไม่ และ มีรายงานถึงอาการปอดบวมเฉียบพลันว่า อยู่ในระดับที่ไม่ปกติ
WHO ได้ประกาศยกระดับการเตือนการแพร่ระบาดจากระดับปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3 (จากระดับ 1-6) และอยู่ในระดับที่ต้องติดตามและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนการประชุม ผู้อำนวยการทั่วไป Margaret Chan ของ WHO ได้รายงานว่า มันเป็นการเร็วเกินไปที่จะตรวจสอบว่ามีการระบาดของไข้หวัดสุกรหรือไม่ในเม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา และสามารถพัฒนาถึงขั้นแพร่กระจายไปทั่วโลก
สถานการณ์ไข้หวัดสุกรในประเทศไทย
วันนี้ กระทรวงสาธารณสุข ชี้ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ระบาดที่เม็กซิโกขณะนี้ ยังไม่มีการระบาดสู่ไทย กระทรวงสาธารณสุขไทยมีระบบเฝ้าระวังทุกจุดผ่านแดนและสถานบริการสามารถให้การรักษา ขณะนี้ได้มีการเตรียมการเฝ้าระวังและควบคุมป้องกัน หากมีผู้สงสัยติดเชื้อเดินทางมาประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมเอกสารแนะนำการปฏิบัติตนในการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ยืนยันไม่ติดต่อจากการกินเนื้อหมู ติดต่อเหมือนไข้หวัดใหญ่ทั่วไป คนไทยยังสามารถกินเนื้อหมูได้อย่างปลอดภัย
http://www.oknation.net/blog/peroid/2009/04/26/entry-1
http://www.xn--22c0bzbwatc4b2dxe5b.com/
http://www.arip.co.th/news.php?id=408901 ไวรัสคอมพิวเตอร์"ไข้หวัดหมู"