นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 นายก ส.บ.ม.ท พร้อมคณะกรรมการบริหาร ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแสดงจุดยืนของครูทั้งประเทศว่า
1. ต้องการให้ รมว.ศธ. ดำเนินการให้มีการยกเลิก คำสั่ง คสช. ที่ 19 เพราะในรอบห้าปีที่ผ่านมาที่มีการปฏิบัติหน้าท่ีภายใต้คำสั่งดังกล่าวส่งผลให้การศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานตกต่ำอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
2. ต้องการให้การบริหารจัดการในรูปองค์คณะที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาต้องมีผู้แทนครูเป็นคณะกรรมการด้วย
3. ขอทราบความชัดเจนของ รมว.ศธ. ว่าจะยุบเขตพื้นที่การศึกษาหรือจะยุบ ศึกษาธิการจังหวัด เนื่องจาก รมว.ศธ. ให้ข่าวว่ายังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะยุบเขตพื้นที่การศึกษาหรือยุบศึกษาธิการจังหวัด แต่จากข้อมูลข้อเท็จจริงดังกล่าวดังนี้บ่งชี้ว่าน่าจะมีการยุบเขตพื้นท่ีการศึกษาเพราะ
3.1 รมว.ศธ. เสนอของบประมาณร่วม 500 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างสำนักงานศึกษาธิการอีกหลายสิบแห่ง
3.2 มีการตัดโอนอัตรากำลังจาก สพฐ. ไปเป็นอัตรากำลังของ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดหลายร้อยอัตรา
3.3 ไม่ดำเนินการให้มีการดำเนินการตามกระบวนการบรรจุแต่งตั้งบุคคลให้เป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นท่ีการศึกษา ทั้งๆที่มีการประกาศผลสอบคัดเลือกแล้ว
3.4 ไม่ดำเนินการลงนามประกาศตั้งเขตพื้นท่ีการศึกษามัธยมศึกษาเพิ่มเติมให้ครบทุกจังหวัดทั้งๆที่สภาการศึกษาได้มีมติเห็นชอบให้เพิ่มเขตพื้นท่ีการศึกษามัธยมศึกษาจังหวัดให้ครบทุกจังหวัด แต่ รมว.ศธ. กลับไม่ลงนาม
กรณีดังกล่าว รมว.ศธ แจ้งว่า
1. เรื่องเขตพื้นท่ีการศึกษากับศึกษาธิการจังหวัดนั้น พบว่ามีความซ้ำซ้อน รมว.ศธ. จะพิจารณาแก้ปัญหาความซ้ำซ้อน ส่วนการจะยุบหน่วยงานใดหรือไม่อย่างไรนั้นกำลังอยู่ในระหว่างการประชุมพิจารณา
2.กรณียังไม่ดำเนินการให้บรรจุแต่งตั้งบุคคลให้เป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นท่ีการศึกษา ทั้งๆที่มีการประกาศผลสอบคัดเลือกแล้วนั้น เนื่องจากอยู่ในระหว่างการปรับหลักสูตรการอบรมเพื่อเพิ่มเนื้อหาการอบรมเกี่ยวกับวิชาภาษาอังกฤษและวิชาที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี่ดิจิตอล เมื่อดำเนินการปรับหลักสูตรเสร็จสิ้นแล้วจะดำเนินการตามกระบวนการบรรจุแต่งตั้ง ต่อไป
3. กรณีไม่ดำเนินการลงนามประกาศตั้งเขตพื้นท่ีการศึกษามัธยมศึกษาเพิ่มเติมให้ครบทุกจังหวัดทั้งๆที่สภาการศึกษาได้มีมติเห็นชอบให้เพิ่มเขตพื้นท่ีการศึกษามัธยมศึกษาจังหวัดให้ครบทุกจังหวัดแล้ว แต่ รมว.ศธ. กลับไม่ลงนามนั้น เนื่องจากบางจังหวัดมีโรงเรียนมัธยมศึกษาเพียงห้าหกโรงเรียนจึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร
4. การดำเนินการใดๆหรือการเรียกร้องใดๆของกลุ่มองค์กรครูขอให้คำนึงว่าเด็กได้อะไร
จากประเด็นการอธิบายของ รมว.ศธ นั้น นายรัชชัยย์ฯเห็นว่า รมว.ศธ. ไม่ได้พูดถึงเรื่องการของบประมาณร่วม 500 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างสำนักงานศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด แต่อย่างใด และกรณีการดำเนินการให้บรรจุบุคคลเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นท่ีการศึกษาและกรณีการจัดตั้งเขตพื้นท่ีการศึกษาให้ครบทุกจังหวัดนั้น รมว.ศธ. ก็มิได้ให้ความหวังว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด
นายรัชชัยย์ ฯยังเปิดเผยอีกว่า ส.บ.ม.ท. เห็นด้วยกับประเด็นท่ี รมว.ศธ. กล่าวว่าการดำเนินการใดใดก็ตามขอให้คำนึงว่าเด็กได้อะไร อย่างไรก็ตามตนมีข้อสงสัยว่า รมว.ศธ ก็ทราบดีอยู่แล้วว่าการที่รัฐบาล คสช. ได้ดำเนินการให้มีการจัดตั้งศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด นั้น เป็นต้นเหตุทำให้การทำงานซ้ำซ้อนกับงานเดิมของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทำให้งานที่สนับสนุนการจัดการศึกษาให้เด็กล่าช้า มีผลกระทบโดยตรงกับคุณภาพการศึกษาของเด็ก แต่ รมว.ศธ กลับของบประมาณเพื่อก่อสร้างสำนักงานศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด จึงอยากถามว่าการก่อสร้างสำนักงานศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด นั้น เด็กได้อะไร และมีข้อสงสัยว่าที่ผ่านมา 5 ปีนั้น บรรดาศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด ใช้สถานที่ใดทำงาน มีความเดือดร้อนเร่งด่วนอย่างไร ทำไม รมว.ศธ. จึงไม่รอให้การปรับโครงสร้างในส่วนภูมิภาคเสร็จสิ้นเสียก่อนก่อน การที่ครูหลายพันคนได้เดินทางไปที่รัฐสภาเมื่อวันท่ี 30 ตุลาคม 2562 เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 19 ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดการทำงานที่ซ้ำซ้อนและเกิดความเสียหายอย่างยิ่งกับการศึกษาของชาติโดยที่การเรียกร้องดังกล่าวมิได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของครูนั้นย่อมเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญประกอบการพิจารณาของ รมว.ศธ. ว่าควรดำเนินการอย่างไรต่อไป และการที่มีการเผยแพร่ร่างโครงสร้างการบริหารการศึกษาในระดับจังหวัดทางสื่อโซเชี่ยลต่างๆนั้น ส.บ.ม.ท.มิได้ให้ความสำคัญกับร่างโครงสร้างดังกล่าวเพราะไม่ปรากฎแหล่งที่มา
“นักการเมืองอยู่ไม่นานก็ไป แต่การศึกษาของชาติเป็นหน้าที่ของครูและบุคคลากรทางการศึกษา ที่ต้องคอยเฝ้าระวังไม่ให้ใครมาทำให้การศึกษาต้องตกต่ำลง หากนักการเมืองยังดึงดันท่ีจะทำอะไรที่มีผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษา เชื่อว่าองค์กรครูทั้งประเทศจะไม่ยินยอมและจะมีมาตรการทางสังคมที่สำคัญตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยเพื่อเรียกร้องให้มีการดำเนินการให้ถูกต้อง ต่อไป แต่หากนักการเมืองหรือท่านผู้ใดได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ กำหนดนโยบายและจัดการศึกษาอย่างถูกทางเกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียน ก็จะอยู่ในความทรงจำและจะเป็นปูชนียบุคคลที่ทรงคุณค่าแก่การเคารพนับถือดังเช่น หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ ดร.ก่อ สวัสดิพาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมวิสามัญศึกษา เป็นต้น” นายรัชชัยย์ ฯกล่าวในที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รมว.ศธ. เปิดห้องรับฟังตัวแทนกลุ่มส.บ.ม.ท. เรียกร้องทบทวนปรับโครงสร้างศธ.
วันที่ 29 ตุลาคม 2562 ณ ห้องประชุมจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วย นายอำนาจ วิชยานุวัติ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รก.เลขาธิการ กพฐ.) ร่วมประชุมกับตัวแทนกลุ่มสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) จำนวน 20 คน ที่เข้าพบเพื่อขอให้ทบทวนการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการในเขตภูมิภาค รวมถึงเรียกร้องให้มีผู้แทนครูและผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเข้ามาเป็นตัวแทนในคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) พิจารณาเพิ่มสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาให้ครบทุกจังหวัด และทบทวนร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เป็นต้น
ทั้งนี้ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. กล่าวว่า การปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค มีเป้าหมายเพื่อมุ่งยกระดับคุณภาพการศึกษา ลดภาระงานที่ซ้ำซ้อน และลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น ดังนั้นในตอนนี้การปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการยังไม่มีข้อสรุปว่าจะออกมาในรูปแบบไหน ตนเองเข้าใจว่าทุกคนมีความอึดอัดใจในการทำงาน แต่เรื่องนี้เราต้องวางแผนวิเคราะห์กันอย่างรอบด้าน โดยดูความเหมาะสมว่ารูปแบบการจัดการศึกษาในพื้นที่แบบไหนจะเป็นทิศทางที่ดีที่สุด
ดังนั้นขอให้ทุกคนมองเรื่องยกระดับคุณภาพการศึกษาเป็นหลัก ทั้งการสร้างเด็กในยุคดิจิทัล การยกระดับภาษาอังกฤษ การพัฒนาครูในโลกศตวรรษที่ 21 ซึ่งทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่จะเปลี่ยนแปลงแบบไหนนั้นต้องขอความร่วมมือจากทุกคนมาช่วยกันขับเคลื่อนด้วย ขณะที่ นายอำนาจ วิชยานุวัติ รก.เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ทุกคนต้องมุุ่งแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษา และพร้อมเดินหน้าแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นไปพร้อมกัน โดยไม่ให้เกิดผลกระทบกับเด็กนักเรียน ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดนำไปสรุป โดยยึดประโยชน์ที่เกิดกับเด็กเป็นสำคัญ
ภาพ/บรรจง ตั้งคำ
ข่าว/อัจฉรา ทั่งโม
ที่มา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน