สกศ. ถอดบทเรียนส่งครูอาชีวศึกษาฝึกในสถานประกอบการ ชงข้อเสนอให้ครูช่างใช้ผลฝึกอบรมขอเลื่อนวิทยฐานะได้-มีการประเมินสมรรถนะของบุคลากรเป็นประจำ
วันนี้ (26 ก.ย.) ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา(กกศ.)กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมเผยแพร่ผลการวิจัย“แนวทางการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาความเชี่ยวชาญของครูอาชีวศึกษา”และการขยายผลสู่การปฏิบัติ โดยมีบุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งครูอาชีวศึกษาเข้ารับการฝึกอบรมในสถานประกอบการ กว่า 400 คน เข้าร่วม ว่า จากการถอดบทเรียนในการติดตามและประเมินผลโครงการส่งครูอาชีวศึกษาฝึกในสถานประกอบการนำร่อง ใน 5 สาขาอาชีพ ได้แก่ อุตสาหกรรมก่อสร้าง, ยานยนต์และชิ้นส่วน, พลังงาน ,เครื่องยนต์เล็กอเนกประสงค์ และ แม่พิมพ์ นั้น สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.)ได้จัดทำแนวทางการพัฒนาสมรรถนะครูอาชีวศึกษาร่วมกับสถานประกอบการ โดยแบ่งเป็น 5 ส่วน ดังนี้ 1.หลักสูตร ควรมีข้อตกลงร่วมกันระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการที่มีความสอดคล้องกับมาตรฐานการปฏิบัติงานของสถานประกอบการในทุกมิติ 2.การบริหารจัดการ จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีกระบวนการคัดเลือกครูอาชีวะที่สอดคล้องกับแผนความต้องการจำเป็น โดยมีการจับคู่สถานศึกษากับสถานประกอบการอย่างเหมาะสม มีการออกแบบการวัดและประเมินผลร่วมกัน และสร้างกลไกการเผยแพร่ข่าวสารและการรับรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงข้อมูลการพัฒนา
ดร.สุภัทร กล่าวต่อไปว่า 3.งบประมาณ ควรมีการจัดตั้งกองทุนการพัฒนาครูอาชีวศึกษาร่วมกับสถานประกอบการ โดยจัดงบฯดำเนินงานเพื่อการพัฒนาครูอาชีวะทุกคนอย่างต่อเนื่องทุกปี และ 4.หน่วยงานรับผิดชอบ ควรมีการกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบการพัฒนาครูอาชีวศึกษาร่วมกับสถานประกอบการที่มีการดำเนินการร่วมกับคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) และ 5.ปัจจัยสู่ความสำเร็จ ต้องมีการกำหนดแรงจูงใจให้สถานประกอบการ สถานศึกษา และครูอาชีวะ เช่น การนำผลการฝึกอบรมไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการขอเลื่อนวิทยฐานะได้ มีการกำหนดเงื่อนไขให้ครูที่ผ่านการฝึกอบรมจัดทำโครงการขยายผล มีการวางเงื่อนไขการฝึกอบรมให้ครูต้องเข้าฝึกอบรมอย่างสม่ำเสมอ และมีการประเมินสมรรถนะของบุคลากรเป็นประจำ
"แนวทางและข้อเสนอเพื่อปฏิรูปการอาชีวศึกษา ดังกล่าวเป็นไปตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาสมรรถนะครูอาชีวศึกษา ระหว่าง สกศ. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) และ อ.กรอ.อศ. โดย สกศ. รับผิดชอบในการทำวิจัยและข้อเสนอเชิงนโยบาย ซึ่งการวิจัยติดตามการพัฒนาความเชี่ยวชาญของครูอาชีวศึกษาทั้ง 5 กลุ่มอาชีพไม่ใช่แค่การปรับทักษะ เทคโนโลยี และองค์ความรู้เท่านั้น แต่เป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยให้เอกชนหรือผู้ประกอบการเป็นผู้นำเพื่อสร้างมาตรฐานการพัฒนาครูอาชีวะเป็นเบ้าหลอมพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการตลาดแรงงานสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศต่อไป" ดร.สุภัทร กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2562