สกศ. ตามผลหลังใช้กฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษาฉบับใหม่ เผยงานวิจัยชี้ 5 ปัจจัยปลดล็อกงานประกันคุณภาพในโรงเรียน ย้ำ ผอ.รร.-ครู ต้องไม่มองเป็นภาระเพิ่มแต่พัฒนาเข้าถึงเด็กโดยตรง
วันนี้ (25 ก.ย.) ที่โรงแรมเดอะ ทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพ ฯ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมพิจารณ์ร่างรายงานข้อเสนอแนวทางการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา โดย นายกวิน เสือสกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา สกศ. กล่าวว่า สกศ. ได้เชิญผู้บริหารสถานศึกษาทุกระดับ ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา อุดมศึกษา มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่า หลังจากที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2553 และประกาศใช้กฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2561 รวมระยะเวลาเกือบ 2 ปี ซึ่งทั้งกฎกระทรวงฉบับเก่าและฉบับใหม่ต่างมีจุดเด่นและจุดต่างที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น หลังการดำเนินงานตามประกาศกระทรวงฉบับใหม่ในสถานศึกษามีผลการดำเนินงานไรบ้าง เพื่อสรุปแนวทางการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาที่มีความสมบูรณ์ ตลอดจนนำมาพัฒนานโยบายขับเคลื่อนการศึกษาชาติที่มีคุณภาพต่อไป
นายกวิน กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาคณะนักวิชาการ สกศ. ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลวิจัยเรื่องดังกล่าว จำนวน 5 ครั้งใน 4 ภูมิภาค คือ ที่กรุงเทพ ฯ เชียงใหม่ สงขลา ชลบุรี และอุดรธานี พบประเด็นน่าสนใจหลายเรื่องซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการประกันคุณภาพ ฯ มี 5 ปัจจัย คือ
1. ผู้บริหารและการบริหารสถานศึกษา ต้องตระหนักและให้ความสำคัญในการสนับสนุนและกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านประกันคุณภาพที่ชัดเจน
2.นโยบายจากส่วนกลาง ต้องมีนโยบายชัดเจนการขับเคลื่อนกฎกระทรวง ศธ. การประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561 เช่น การจัดทำคู่มือ หรือแบบฟอร์มที่เป็นแนวทางดำเนินงานของสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการตั้งค่าเป้าหมาย การกำหนดเกณฑ์มาตรฐาน การจัดทำรายงานการประเมินตนเอง เป็นต้น นอกจากนี้ควรมีการนำเสนอตัวอย่างหรือแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการประกันคุณภาพ ฯ เช่น การกำหนดจุดเน้นที่แตกต่างกันตามอัตลักษณ์ของแต่ละสถานศึกษา การตั้งค่าเป้าหมายที่ดี
3.ครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักว่างานประกันคุณภาพฯ ไม่ใช่ภาระเพิ่ม รวมทั้งต้องสร้างความต่อเนื่องการดำเนินงาน
4.การสื่อสารและสร้างความรู้ความเข้าใจ เป็นสร้างความรู้และความเข้าใจที่ชัดเจนเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งในระดับเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา รวมทั้งมีการนิเทศติดตามผลอย่างต่อเนื่อง และควรเพิ่มช่องทางการสื่อสารและให้ความรู้เกี่ยวกับงานประกันคุณภาพ ฯ ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย สะดวก เช่น สื่อสังคมออนไลน์ เว็บไซต์ ไลน์กลุ่ม เฟซบุ๊ค และ
5.มาตรฐานและคุณภาพของการประเมินผล หน่วยงานที่รับผิดชอบงานประเมินคุณภาพฯ ควรมีการชี้แจงทำความเข้าใจเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจน และผู้ประเมินควรมีความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง ไม่ประเมินโดยใช้ความรู้สึก และสามารถให้คำแนะนำที่ช่วยสถานศึกษาสามารถปรับปรุง แก้ไขปัญหา หรือพัฒนาการดำเนินงานได้
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 25 กันยายน 2562