รมว.ศึกษาธิการ ร่วมงานวันสถาปนาสกสค.ครบรอบ 16 ปี ย้ำครูทุกคนต้องช่วยสร้างเด็กไทยสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต ชี้ ประเทศไทยไม่มีทางเลือกให้กับการศึกษาที่อ่อนแอ
วันนี้ (9 ก.ย.) ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) จัดงานวันสถาปนาสกสค.ครบรอบ 16 ปี ซึ่งนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานการมอบรางวัลพระพฤหัสบดีให้แก่ครูจำนวน 18 คน และรางวัลปิยนน์คนการศึกษา จำนวน 710 คน โดยนายณัฏฐพล กล่าวว่า สกสค.ถือเป็นหน่วยงานสำคัญที่มีภาระกิจหลักช่วยส่งเสริมสนับสนุนสวัสดิการและสวัสดิภาพครูทำให้ครูมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งก็เหมือนภาระกิจของตนที่ต้องการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ข้าราชการครูทุกคน โดยตนอยากให้ครูทุกคนที่ได้รับรางวัลเหล่านี้ได้นำผลงานของตัวเองที่ทำจนได้รับรางวัลมาต่อยอดและแชร์ไปให้ครูคนอื่นๆได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จด้วย
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วพร้อมกับการแข่งขันระดับประเทศ ดังนั้นตนฝากครูทุกคนจะต้องสร้างเด็กไทยให้ไปสู่การแข่งขันให้ได้ เพราะตอนนี้ประเทศไทยไม่มีทางเลือกให้กับการศึกษาที่อ่อนแอ โดยครูจะต้องปรับวิธีการเรียนการสอนให้เกิดการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ อย่าไปคิดว่าการศึกษาในตอนนี้ทุกคนปฎิรูปสำเร็จแล้ว เพราะหากคิดเช่นนั้นทุกคนคิดผิด ซึ่งหากเราไม่สร้างสิ่งใหม่ๆให้เกิดขึ้นในการศึกษาด้วยเทคโนโลยีแล้ว ในอนาคตเด็กไทยไม่สามารถแบกรับการเจริญเติบโตของประเทศได้อย่างแน่นอน ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนาเสริมความแข็งแกร่งเด็กไทยให้ไปสู่ศตวรรษที่ 21 ให้ได้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กไปสู่จุดนั้นได้ก็มาจากครู ดังนั้นตนขอฝากครูทุกคนได้ช่วยกันต่อยอดและปรับปรุงสิ่งใหม่ๆให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนด้วย
‘สำหรับการแก้ปัญหาหนี้ครูก็เป็นอีกนโยบายของผมที่ต้องการสร้างขวัญกำลังใจครูในเรื่องนี้ แต่ทั้งนี้ต้องมีการวางแผนให้ชัดเจนว่ามีรูปแบบใดบ้างในการแก้ไขหนี้ครู เพราะเราต้องมาดูพื้นฐานว่าปัญหาดังกล่าวคืออะไร หรือเกิดจากการที่หน่วยงานปล่อยกู้ให้ครูอย่างเต็มที่มากเกินไปหรือไม่ ซึ่งครูบางคนมีหนี้สินเกินตัวเราก็ต้องมาแก้วัฒนธรรมการใช้ชีวิตของครูด้วย ส่วนประเด็นการปรับปรุงวิทยฐานะนั้นผมมีคณะทำงานที่เกี่ยวข้องที่จะมาแก้ไขแล้ว ซึ่งวิธีของผมคงไม่ยึดติดว่าจะการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะจะต้องวัดจากการเรียนการสอนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว แต่มีวิธีอื่นอีกมากในการนำมาใช้ ดังนั้นขอเวลาไม่นานในการปรับวิทยฐานะของครูให้เหมาะสมกับยุคสมัย จากนั้นจะสื่อสารให้ครูได้เข้าใจ’ นายณัฏฐพล กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 9 กันยายน 2562