คุณหญิงกัลยา เผย ครูและผู้บริหารแห่สมัครอบรมการเรียนการสอนโค้ดดิ่งเกินโควตา เล็งปี 63 ตั้งเป้าอบรมให้ได้มากที่สุด 25,000 คน
วันนี้ (27 ส.ค.) คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีครูและผู้บริหารการศึกษาได้มาสมัครเข้าร่วมการอบรมโคดดิ้ง มากกว่าจำนวนที่เปิดรับ หรือมากกว่า 1,000 คน เนื่องจากการเปิดรับสมัครนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะครูและผู้บริหารการศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เท่านั้น แต่ยังเปิดกว้างให้โรงเรียนเอกชน โรงเรียนปอเนอะ หรือโรงเรียนชายขอบต่างๆ เพื่อเป็นการกระจายให้ครูและผู้บริหารสถานศึกษาทุกแห่งได้เข้าร่วม ดังนั้น ตอนนี้ทางสพฐ. และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จะไปหารือร่วมกันเพื่อกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสม และในปี 2563 ที่จะถึงนี้จะมีการดำเนินการให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยตั้งเป้าจะเปิดรับสมัครจำนวน 25,000 คน เพื่อให้เกิดการพัฒนา อบรมโคดดิ้งครูและผู้บริหารที่สมัครเข้าร่วมที่เกิดคุณภาพมากที่สุด อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น ในการอบรมโคดดิ้งครู ในปลายเดือนก.ย.นี้ คาดว่าจะอบรมที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ
“สาเหตุที่ทำให้ครูและผู้บริหารสถานศึกษาสนใจสมัครเข้าร่วมโคดดิ้งจำนวนมากนั้น เชื่อว่าทุกคนไม่อยากตกขบวน และส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ปกครองที่สนใจสถานศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนโคดดิ้งมากกว่าโรงเรียนที่ไม่ได้เปิดการเรียนการสอน ส่วนหลักสูตรในการอบรมเบื้องต้นนั้น ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเรียนโคดดิ้ง ที่แม้สพฐง สสวท. หรือกระทรวง หน่วยงานต่างๆ ได้มีการพัฒนาการเรียนการสอนโคดดิ้งมาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านมา ไม่มีการควบรวมให้เป็นหลักสูตรไปในทิศทางเดียวกัน หลักสูตรนี้เป็นความร่วมมือของสพฐ. สสวท. และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ตกลงให้เป็นหลักสูตรเดียวกัน โดยในวันที่ 30 ส.ค.นี้ คณะทำงานโคดดิ้งที่มาจากทุกภาคส่วน จะสรุปหลักสูตรในการเรียนการสอน ส่วนวิธีการสอนจะเป็นไปตามเทคนิคของแต่ละคน” รมช.ศธ. กล่าว
คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อไปว่า สำหรับการทำรายการเกี่ยวกับโคดดิ้งนั้น ตอนนี้มีหน่วยงาน องค์กรสื่อจำนวนมากที่ได้เข้ามาติดต่อขอช่วยทำรายการ ซึ่งทาง ศธ.ได้เปิดกว้างให้แต่ละแห่งได้เข้ามาเสนอรูปแบบ ลักษณะของรายการ และต้องมีการนำเสนอในหลายๆ ช่องทาง ต้องเป็นการสื่อสารร่วมสมัย โดยจะเลือกสื่อที่เหมาะสม และตอบโจทย์ความต้องการ สื่อไปถึงเด็กได้มากที่สุด รวมทั้งต้องทำให้ครูสามารถนำสื่อเหล่านี้ไปใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน การถ่ายทอดไปยังเด็กนักเรียนได้ด้วย ซึ่งครูต้องไปเรียนรู้วิธีการสอน เพราะการสอนโคดดิ้ง ไม่ใช่อยู่ที่หลักสูตร แต่ต้องทำให้ครูเข้าใจ และนำไปสอนเด็กได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการพัฒนาครูนั้น เบื้องต้น ได้หารือร่วมกับทางสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ว่าต่อไปการพัฒนาครู ต้องทำให้ครูเป็นผู้สร้างบรรยากาศ สภาพแวดล้อมในห้องเรียน และครูต้องเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนการสอน เพราะเด็กทุกคนอยากเรียนรู้ แต่ที่ผ่านมาสภาพแวดล้อม หรือครูผู้สอนไม่ได้ทำให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างสนุก ดังนั้น หลังจากนี้ ต้องหาเครื่องมือให้ครูสามารถเป็นผู้อำนวยการสอน เพื่อจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2562