22 ส.ค.62 - นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงกรณีการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ว่า นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้มอบนโยบายเรื่องการบริหารจัดการโรงเรียนไว้อย่างชัดเจนว่า จะต้องบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยส่วนตัวตนมองว่าการที่จะทำให้คุณภาพการศึกษาที่ต้องการให้เกิดขึ้นนั้นต้องมีปัจจัยอย่างน้อย คือ ครูครบชั้น จำนวนนักเรียนต่อห้องที่เหมาะสม ทั้งนี้ ในส่วนของอาคารสถานที่สนามเด็กเล่น ห้องปฏิบัติการ ระบบสาธารณูปโภค ก็ต้องมีความพร้อม รวมไปถึงสื่อ เทคโนโลยี ระบบสารสนเทศ อีกทั้งยังมีเรื่องของความสัมพันธ์กับชุมชน การสนับสนุนจากชุมชน และประสิทธิภาพของการใช้งบประมาณด้วย เพราะหลักการสำคัญของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คือ เด็กทุกคนต้องมีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ดังนั้นการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก จึงไม่ใช่ต้องยุบหรือควบรวมสถานเพียงอย่างเดียว อีกทั้งการควบรวม หรือ การเลิกสถานศึกษา ถือเป็นอำนาจของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และศึกษาจังหวัด (ศธจ.) โดยยึดหลักการ คือ โรงเรียนที่ใกล้กันสามารถควบรวมได้ โดยไม่มีปัญหาการเดินทางของนักเรียนำ ส่วนโรงเรียนที่ทำไม่ได้จำเป็นต้องอยู่ก็ไม่ควรควบรวม และหากสามารถสร้างเรือนพักนอนเพิ่มเพื่อให้เด็กที่มีปัญหาการเดินทางมาเรียนได้พักนอน กลับบ้านเฉพาะเสาร์ อาทิตย์ หรือวันหยุดยาวหรือปิดเทอม
“บางพื้นที่ขณะนี้เด็กที่พ่อแม่มีฐานะพร้อม จะยอมส่งลูกของตัวเองไปเรียนโรงเรียนอื่นที่คิดว่ามีคุณภาพมากกว่า กลายเป็นว่าเด็กที่พ่อแม่ยากจนไม่มีต้นทุนต้องทนเรียนในโรงเรียนเล็กใกล้บ้านที่ด้อยคุณภาพการศึกษา เพราะพ่อแม่ไม่มีฐานะพอที่จะส่งลูกไปเรียนโรงเรียนที่มีคุณภาพมากกว่าได้ เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำที่อยู่ในสภาพจำยอม ดังนั้น รัฐจะต้องไม่ทิ้งเด็กเหล่านี้ และการควบรวมโรงเรียน เด็กและครูจะได้รับการสนับสนุนค่าเดินทางจากรัฐ หรือมีบริการจัดรถรับส่งนักเรียนให้ไปเรียนในโรงเรียนที่มีความพร้อม ผมคิดว่าพวกเราต้องยอมรับความจริงที่ว่าคุณภาพการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งสร้างโอกาสให้เด็กได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพมากกว่าเดิม” ประธาน กพฐ.กล่าว
นายเอกชัย กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกระดับควรจะมาร่วมมือกัน หาหนทางพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กร่วมกัน โรงเรียนใดควบรวมได้ก็ควรทำ โรงเรียนใดควบรวมไม่ได้ หากมีเด็กน้อยและมีความจำเป็นต้องอยู่จะจัดการเรียนการสอนอย่างไรให้มีคุณภาพ การศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาทางเลือกจะเข้ามาช่วยกันอย่างไร ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เพราะหากเราค้านเรื่องการไม่ยุบ ไม่ควบรวมโรงเรียน แต่ไม่ช่วยกันเสนอหาแนวทางพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กว่าจะทำอย่างไร ตนห่วงอนาคตคุณภาพการศึกษาของเด็ก มากกว่าสถานภาพตำแหน่งของตน
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2562