นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่าเมื่อวันท่ี 16 สิงหาคม 2562 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาโดย ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษาและ ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ได้จัดให้มีการทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่จัดทำร่างโดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) โดยการจัดทำประชาพิจารณ์ดังกล่าวจัดที่ห้องประชุมสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา การประชุมเพื่อทำการประชาพิจารณ์ครั้งนี้มีผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมประชุมรวมถึงผู้นำองค์กรครูต่างๆและ รศ.นายแพทย์จิรุตน์ ศรรัตนบัลล์ ตัวแทนจาก กอปศ. และผู้สนใจเข้าร่วมประชาพิจารณ์ โดยนายรัชชัยย์ฯได้สอบถาม กอปศ. ผ่านไปทางผู้แทน กอปศ. ที่เข้าร่วมประชุม ในประเด็นต่างๆดังนี้
1.การเปลี่ยนตำแหน่ง ผอ. เป็น ครูใหญ่ นั้นเปลี่ยนทำไม เปลี่ยนแล้วทำให้การศึกษาดีขึ้นทันทีหรือไม่ การเปลี่ยนนั้น ได้สอบถามครูแล้วหรือยัง ที่สำคัญคือในอดีตที่ผ่านมานั้นตำแหน่งครูใหญ่เป็นตำแหน่งเริ่มต้นของบุคคลที่เข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนครั้งแรก ความรับผิดชอบงานยังไม่สูงมาก ต่อมาเมื่อมีประสบการณ์ มีผลงาน ก็จะได้รับการพัฒนาและเลื่อนตำแหน่งเป็นอาจารย์ใหญ่หรือ ผู้อำนวยการ ตามลำดับ เปรียบเสมือนนายทหารที่เข้าสู่ตำแหน่งครั้งแรกได้รับการบรรจุให้เป็นนายทหารชั้นยศร้อยตรี เมื่อทำงานมีประสบการณ์ มีผลงาน ก็จะได้รับการพัฒนาและเลื่อนตำแหน่งไปเรื่อยๆจนถึงเป็นนายทหารชั้นนายพล กรณีนี้หากจะมีการเปลี่ยนตำแหน่งนายพล ให้กลับมาเป็น ร้อยตรี เช่นเดิม จะทำได้หรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ นอกจากนี้ตำแหน่งครูใหญ่นั้นก็มิได้เป็นตำแหน่งที่กำหนดไว้ในกฎหมายใดให้เป็นตำแหน่งที่จะได้รับเงินวิทยะฐานะ การทำเช่นนี้กับครู ทำได้อย่างไร
2. วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงเช่นเดียวกับวิชาชีพแพทย์ วิศวกร สถาปนิกฯลฯ เพราะเป็นวิชาชีพที่บุคคลทั่วไปไม่สามารถทำได้ยกเว้นผู้ที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพครูเท่านั้น เพราะวิชาชีพครูนั้นมิได้เป็นเพียงการสอนให้นักเรียนได้เรียนรู้เท่านั้น แต่วิชาชีพครูยังเป็นวิชาชีพที่ครูจะต้องรับผิดชอบไปถึงคุณภาพชีวิตของนักเรียน รับผิดชอบไปถึงครอบครัวของนักเรียน และต้องคอยติดตามช่วยเหลือจนกว่านักเรียนจะประสบความสำเร็จแม้ว่าจะเรียนจบจากโรงเรียนไปแล้ว ก็ตาม การที่ผู้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ได้ยกเลิก “ใบประกอบวิชาชีพครู” แล้วให้มี “ใบรับรองความเป็นครู “ แทนนั้น เป็นการลดคุณค่าของวิชาชีพครู ไม่เห็นคุณค่าของวิชาชีพครูทั้งๆที่บรรดาผู้ร่าง พรบ การศึกษาฯฉบับนี้ล้วนแล้วแต่ได้ดีมีความรู้ความสามารถติดตัวมาถึงทุกวันนี้ก็เพราะครู การลดคุณค่าของวิชาชีพครูที่เป็นวิชาชีพชั้นสูง ตัดความเป็นวิชาชีพชั้นสูงไปนั้น มีเหตุผลอะไร นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงจาก “ใบประกอบวิชาชีพครู”เป็น “ใบรับรองความเป็นครู” จะส่งผลทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพครูจะถูกตัดเงินค่าตอบแทน เงินวิทยะฐานะ จึงอยากรู้ว่า ทำกับครูเช่นนี้ ทำได้อย่างไร
3. กรณี คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 มีคำสั่งท่ี 19 ตัดอำนาจการบังคับบัญชาระหว่างผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นท่ีการศึกษา กับ ข้าราชการครูสำนักงานเขตพื้นท่ีการศึกษา ที่เป็นอำนาจในการให้คุณให้โทษไปเป็นอำนาจของศึกษาธิการจังหวัดซึ่งเป็นข้าราชการต่างสังกัด นั้นทำไม กอปศ. ไม่แก้ไขเยียวยาเรื่องนี้ทั้งๆท่ีเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ขาดความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง
4. ที่ผ่านมา กอปศ. ทำประชาพิจารณ์แต่ละครั้ง แต่ไม่เอากฎหมายทั้งฉบับ มาแสดงให้ครูทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง นำเสนอแต่เรื่องกองทุนการศึกษาซึ่งคุณครูก็เห็นด้วย แต่ไปออกข่าวว่าครูส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. การศึกษาฯนี้ทั้งฉบับ อย่างนี้ก็ทำได้ด้วยหรือ
5. ทำไมต้องเร่งรัดให้ร่าง พรบ การศึกษาฯ นี้มีผลบังคับใช้อย่างลุกลี้ลุกลน โดยจะให้รัฐออกเป็นพระราชกำหนด ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่ากรณีที่จะออกเป็นพระราชกำหนดได้ นั้นต้องมีเงื่อนไขคือ ประเทศกำลังจะเข้าสู่ภาวะสงคราม ต้องประกาศสงคราม หากรอให้สภาพิจารณาอนุญาต จะไม่ทันการ หรือกรณีเศรษฐกิจของประเทศมีปัญหาขั้นวิกฤติ จึงต้องให้รัฐซึ่งเป็นฝ่ายบริหารออกกฎหมายเองโดยการตราเป็นพระราชกำหนด จึงขอถามว่า ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนนั้นเป็นตำแหน่งที่ก่อให้เกิดวิกฤติของชาติอย่างรุนแรงจนถึงขั้นต้องรีบตราเป็นพระราชกำหนดให้เปลี่ยนตำแหน่งเป็น “ครูใหญ่” โดยเร็ว จริงหรือไม่ และการที่ครูมี “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” ก็เป็นการทำลายระบบการศึกษาจนทำให้ชาติบ้านเมืองเสียหายถึงขั้นต้องรีบออกเป็นพระราชกำหนดให้ยกเลิก”ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” แล้วเปลี่ยนเป็น “ใบรับรองความเป็นครู” นั้น เป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่
6.การบริหารการศึกษาในทุกระดับที่เป็นรูปแบบองค์คณะ ทำไมไม่ให้ครูมีส่วนร่วม คนอื่นๆจะรู้เรื่องการศึกษาได้ดีเท่าคนในวงการศึกษาได้อย่างไร ทำไม กอปศ. จึงไม่คิดเรื่องนี้
นายรัชชัยย์ ฯ ยังได้เปิดเผยอีกว่าการท่ี กอปศ. ทำเช่นนี้จึงทำให้ครูรู้สึกไม่มั่นใจในการที่ กอปศ. จะทำหน้าท่ีปฏิรูปการศึกษาอีกต่อไป นอกจากนี้ นายรัชชัยย์ฯ ยังได้ขอให้ผู้ดำเนินการประชุมสอบถามผู้เข้าประชุมว่ามีผู้ใดเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้หรือไม่ ปรากฎว่า ไม่มีผู้ใดยกมือเห็นด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.)