นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่าตามที่ รมว.ศธ ได้ให้โอกาสครูและองค์กรต่างๆทางการศึกษาเข้าพบและนำเสนอสภาพปัญหาและแนวทางในการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา เมื่อวันท่ี 20 กรกฎาคม 2562 ที่กระทรวงศึกษาธิการนั้น ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีของการศึกษาไทยที่ได้ผู้นำทางการศึกษาที่ใจกว้าง มีวิสัยทัศน์ มีการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมทำให้รู้สภาพปัญหาของการศึกษาที่แท้จริงเพราะได้รับฟังจากผู้ปฏิบัติในระดับโรงเรียนที่สะท้อนปัญหาจากความเป็นจริง ประเด็นปัญหาสำคัญที่สมาคมฯเห็นว่าจะต้องเร่งดำเนินการโดยเร็วเพื่อจะได้มีหน่วยงานและบุคคลกรรับไปดำเนินการตามนโยบายของ รมว.ศธ. ที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในเรื่องต่างๆคือ
1. การให้มีหน่วยงานระดับกรมที่มีผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการประถมศึกษาและด้านการมัธยมศึกษาแยกต่างหากจากกัน เพราะการจัดการศึกษาด้านการประถมศึกษาและด้านการมัธยมศึกษานั้นมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงทั้งในด้านวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา ปรัชญาและแนวคิดในการจัดการศึกษา สภาพตัวผู้เรียนและแนวทางในการจัดการเรียนรู้ ฯลฯ จากสภาพความแตกต่างดังกล่าวจึงต้องมีหน่วยงานที่มีผู้มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางรับเอานโยบายของ รมว.ศธ. ไปสู่การปฏิบัติ
ทั้งนี้ต้องยอมรับความจริงว่าครูโรงเรียนมัธยมศึกษาหรือเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานั้นไม่มีความสามารถในเรื่องของการจัดทำหลักสูตร การสร้างสื่อเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อการเรียนรู้ แนวคิดและเทคนิควิธีใหม่ๆที่ใช้ในการเรียนการสอน เนื่องจากคุณครูมีหน้าที่สอนกันสัปดาห์ละร่วมยี่สิบห้าชั่วโมง และยังต้องรับผิดชอบในตัวนักเรียนในด้านอื่นๆอีกมากมายนอกเหนือจากหน้าที่สอน จึงไม่มีเวลาที่จะไปคิดทำในสิ่งที่จะทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างมีคุณภาพตามที่รัฐพึงประสงค์ เปรียบเสมือนทหารในพื้นที่ต่างๆที่ไม่สามารถคิดสร้างและผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์เองได้จึงต้องมีกองทัพและมีหน่วยงานต่างๆของกองทัพช่วยคิดช่วยสร้าง การมีหน่วยงานสนับสนุนยังต้องแยกเป็นเฉพาะทางเป็นกองทัพบก กองทัพเรือและกองทัพอากาศ เป็นต้น
ดังนั้นการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงควรต้องมีกรมการประถมศึกษาที่จะทำหน้าที่จัดการศึกษาและสนับสนุนภาระงานด้านการประถมศึกษา มีกรมการมัธยมศึกษาที่จะทำหน้าที่จัดการศึกษาและสนับสนุนภาระงานด้านการมัธยมศึกษา โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ขอให้ดำเนินการให้สำนักงานการศึกษาภาคบังคับและสำนักงานมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่มีอยู่เดิมทั้งสองสำนัก เป็นสำนักงานที่เป็นโครงสร้าง มีการกำหนดกรอบอัตรากำลังบุคคลากรอย่างชัดเจนและมีจำนวนเพียงพอที่จะมีบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการสนับสนุนการจัดการศึกษาด้านการประถมศึกษาและด้านการมัธยมศึกษาแยกต่างหากจากกันแต่อยู่ภายใต้นโยบายเดียวกัน
2. ให้มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาให้ครบทุกจังหวัด เพราะปัจจุบันนี้มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเพียง 42 เขต ส่งผลให้บางเขตพื้นที่การศึกษาต้องดูแลรับผิดชอบการจัดการศึกษาหลายจังหวัดโดยมีปัญหาเรื่องความไม่สะดวกของครูและผู้บริหารโรงเรียนในการเดินทางข้ามจังหวัดไปติดต่อราชการที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา บางจังหวัดต้องเดินทางร่วมร้อยกิโล มีความไม่สะดวกของผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในการเดินทางไปสถานศึกษาเพื่อภารกิจของทางราชการ
ดังนั้นโอกาสในการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของการศึกษาของสถานศึกษาที่มีที่ตั้งในจังหวัดที่ไม่ได้เป็นที่ตั้งของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จึงมีน้อยและกระทบต่อคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาเดียวกันแต่อยู่คนละจังหวัด มีมาตรฐานงานด้านคุณภาพและด้านบุคคลที่แตกต่างกัน นอกจากนี้เมื่อ กศจ.แต่ละจังหวัดเรียกประชุม ผอ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา พร้อมกัน วันเดียวกัน ผอ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะสามารถเข้าประชุมได้ที่เดียว ส่งผลให้ กศจ. อีกจังหวัดหนึ่งเกิดความรู้สึกว่า ผอ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไม่ให้ความใส่ใจ
“การเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาให้ครบทุกจังหวัดนั้นได้รับความเห็นชอบจาก นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีต รมว.ศธ. และสภาการศึกษาก็มีมติให้เพิ่มเขตพื้นท่ีการศึกษามัธยมศึกษาให้ครบทุกจังหวัดมานานแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการลงนามของ รมว.ศธ. เท่านั้น” นายรัชชัยย์ ฯกล่าว
ขอบคุณข้อมูลจาก นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) 21 ก.ค.2562