นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย ( ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่าคณะกรรมการบริหารสมาคมฯและสมาชิกสมาคมฯส่วนหนึ่งได้เข้าพบและรับทราบนโยบายของนายสุเทพ ชิตวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ความว่าแนวทางในการบริหารจัดการด้านการศึกษาของ สพฐ นั้นจะเน้นเรื่องการให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน การอำนวยความสะดวกให้กับคุณครูในทุกๆเรื่องที่จะทำให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ จะมีการวิเคราะห์และจัดหาปัจจัยเกื้อหนุนที่จะทำให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไปด้วยดี จะต้องมีการวิเคราะห์และพัฒนาหลักสูตรในทุกระดับชั้นให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันและจะวิเคราะห์วิจัยว่าปัจจุบันนักเรียนได้เรียนตามความชอบและความพึงพอใจตลอดจนมีจำนวนวิชาที่เรียนว่ามากเกินไปหรือไม่ การเร่งรัดในเรื่องการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้กับนักเรียนตั้งระดับปฐมวัยขึ้นไปโดยให้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง การวิเคราะห์สภาพปัญหาของการวัดและการประเมินผลที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันว่าเป็นการวัดเพื่อพัฒนาผู้เรียนอย่างแท้จริงหรือไม่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะต้องทำยุทธศาสตร์การพัฒนาแล้วเสนอมาให้ สพฐ รับทราบและจะมีการมอบหมายให้สำนักต่างๆใน สพฐ ติดตามว่ามีการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ที่ได้วางไว้หรือไม่ สพฐ ต้องไม่ทำอะไรที่เป็นการเพิ่มงานให้กับโรงเรียน จะกระจายอำนาจต่างๆให้เขตพื้นท่ีการศึกษาและสถานศึกษาให้มีความเข้มแข็งคล่องตัวและปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะมีการรับฟังและบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมจากครู ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารการศึกษา
จากแนวคิดในการบริหารจัดการเชิงรุกดังกล่าวของนายสุเทพ ชิตวงษ์ นั้น ส.บ.ม.ท. เชื่อได้ว่าการจัดการศึกษาของ สพฐ. จะเป็นไปโดยมีคุณภาพและผู้เรียนจะได้รับประโยชน์ตามความคาดหวังของชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง แนวคิดในการพัฒนาคุณภาพของนายสุเทพฯนั้นจะเป็นที่พึงพอใจของบรรดาคุณครูและผู้บริหารโรงเรียนเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับประเด็นที่มีการเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการรับนักเรียนโดยให้โรงเรียนแข่งขันสูงจะต้องรับนักเรียนโดยวิธีการสอบร้อยเปอร์เซนต์นั้น นายรัชชัยย์ฯ เปิดเผยว่า "เรื่องการรับนักเรียนนั้น สพฐ ควรมอบให้เป็นอำนาจของเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาร่วมกันพิจารณาและกำหนดแนวทางว่าจะให้มีการรับนักเรียนโดยวิธีไหนแบบใดที่เหมาะสมกับสภาพของโรงเรียน ประเภทของโรงเรียน จำนวนนักเรียนในพื้นที่บริการ ฯลฯ สพฐ ไม่ควรกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ตายตัวว่าจะต้องทำอย่างไร เพราะในเมื่อมีการกระจายอำนาจตามนโยบายของรัฐแล้วก็ควรจะเลิกคิดในเรื่องการสั่งการจากส่วนกลาง เพราะ สพฐ.ไม่มีทางที่จะเข้าใจในบริบทของโรงเรียนในแต่ละโรงเรียนอย่างครบถ้วน เรื่องนี้ สพฐ ควรคิดนโยบายในเรื่องการดำเนินการให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ จะดีกว่า สพฐ ควรบริหารจัดการในรูปแบบของการกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติหน้าท่ีให้เป็นไปตามหลักความชอบด้วยกฎหมายมากกว่าที่จะบริหารจัดการในรูปแบบของการสั่งการและการบังคับบัญชา"
ขอบคุณข้อมูลจาก นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย ( ส.บ.ม.ท.)