กมว. สรุป กรณี ตีความ การปฏิบัติการสอน หลักสูตรครู 4 ปี เป็นปัญหาในเชิงการปฏิบัติ ไม่ใช่ข้อกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องตีความ พร้อมมอบ คณะอนุฯ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการรับรองปริญญาหลักสูตรผลิตครู กำหนด หลักเกณฑ์ปฏิบัติการสอนของ หลักสูตร 4 ปี คาดเสนอ กมว.พิจารณา มิ.ย.นี้
นายเอกชัย กี่สุขพันธุ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุม กมว.ได้พิจารณากรณีที่ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) ได้ยื่นหนังสือถึงนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ในฐานะประธานกรรมการคุรุสภา เรื่องการตีความมาตรา 44 (ก) (3) แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 เกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติการสอนไม่น้อยกว่า 1 ปี และเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งจากการพิจารณาของ กมว. มีความเห็นว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาในเชิงการปฏิบัติ ไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมาย อีกทั้งในมาตรานี้ยังให้อำนาจคณะกรรมการคุรุสภาเป็นผู้กำหนดแนวทางในการปฏิบัติการสอนด้วย นอกจากนี้ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายของ กมว. ยังรายงานที่ประชุมว่า เรื่องนี้ไม่มีความจำเป็นต้องตีความ เพราะหลักสูตรผลิตครู 5 ปี ได้มีการกำหนดเรื่องการปฏิบัติการสอนไว้แล้ว ดังนั้นสำหรับหลักสูตรผลิตครู 4 ปี ทางคณะกรรมการคุรุสภาก็จะเป็นผู้กำหนดเกณ์การปฏิบัติการสอนตามที่กฎหมายมอบอำนาจให้ ซึ่งจะเป็นไปตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (มคอ.) 1 ของมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี (หลักสูตร 4 ปี) สาขาครุศาสตร์และสาขาศึกษาศาสตร์
ประธานกมว.กล่าวอีกว่า จากนี้ทางคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการรับรองปริญญาหลักสูตรครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ จะไปกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการรับรองหลักสูตรผลิตครู 4 ปี ซึ่งจะมีเรื่องการปฏิบัติการสอนด้วย ซึ่งที่ประชุมได้กำชับว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และจะเสนอให้ กมว. พิจารณา ในเดือนมิถุนายน ซึ่งการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเป็นไปตามกฎหมาย และ มคอ.1 ของมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี (หลักสูตร 4 ปี) สาขาครุศาสตร์และสาขาศึกษาศาสตร์ อย่าวไรก็ตาม ขณะนี้สถาบันผลิตครูหลายแห่งได้เสนอหลักสูตรผลิตครู 4 ปี ให้สภามหาวิทยาลัยเห็นชอบแล้ว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562