นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่าตามที่ ส.บ.ม.ท.และองค์กรครูหลายองค์กรได้เรียกร้องให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยด้านการศึกษา (ก.อ.ป.ศ.)และรัฐบาลยุติแนวคิดที่จะใช้อำนาจทางการบริหารโดยการออกเป็นพระราชกำหนดในการประกาศใช้กฎหมายการศึกษาแห่งชาติตามร่างกฎหมายที่ ก.อ.ป.ศ.ได้ร่างเสนอไว้ เนื่องจากมีสาระสำคัญบางประเด็นไม่เป็นที่ยอมรับของครูและผู้บริหารโรงเรียน และต่อมามีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ดังกล่าวได้แถลงข่าวว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ผ่านการทำประชาพิจารณ์แล้วแต่บรรดาองค์กรครูไม่เข้าใจในเจตนารมณ์ของการเปลี่ยนตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นครูใหญ่ ไม่เข้าใจในเรื่องการกำหนดให้มีบุคคลที่ทำหน้าที่ผู้ช่วยครูใหญ่โดยไม่จำเป็นต้องเคยเป็นครูก่อนและไม่เข้าใจในเรื่องการให้เปลี่ยนแปลงใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเป็นใบรับรองความเป็นครู นั้น
เห็นว่าในการทำประชาพิจารณ์ของ ก.อ.ป.ศ.ตามภูมิภาคต่างๆ มิได้มีการนำเสนอเรื่องที่เป็นปัญหาดังกล่าวขึ้นพิจารณารับฟังความคิดเห็นในทุกเวทีที่มีการทำประชาพิจารณ์ ทั้งๆ ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสาระสำคัญและมีผลกระทบกับการจัดการศึกษาและการบริหารงานบุคคล การไม่มีการหยิบยกเรื่องการเปลี่ยนแปลงทั้งสามประเด็นขึ้นทำการประชาพิจารณ์นั้นถือว่าเป็นการหมกเม็ดและมีเจตนาที่ซ่อนเร้นโดยหวังผลด้านใดด้านหนึ่ง นอกจากนี้การที่มีการกล่าวอ้างว่าองค์กรครูไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของการเปลี่ยนแปลงนั้น เห็นว่าจากถ้อยคำในตัวบทกฎหมายมีความชัดเจนเพียงพอที่จะพิเคราะห์ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆต่อการศึกษาเลย มีแต่จะทำให้ระบบการศึกษาถดถอย ขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติหน้าที่ถดถอย ไม่เกิดแรงจูงใจในการชักนำให้คนเก่งและคนดีมาเป็นครู
นายรัชชัยย์ ฯ ยังได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่าหาก ก.อ.ป.ศ.เป็นห่วงว่าถ้าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ไม่ได้ประกาศใช้จะส่งผลให้การแยกการศึกษาระดับอุดมศึกษา ไปอยู่กระทรวงอื่นจะมีปัญหานั้น เห็นว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเพราะ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐบาลนี้ได้บัญญัติให้แยกการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาไปสังกัดกระทรวงอื่นแล้ว นอกจากนี้ในอดีตที่ผ่านมาก่อนปี พ.ศ.๒๕๔๒ การศึกษาระดับประถมศึกษาและการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ไม่เคยมีปัญหาว่ามีความตกต่ำ ที่สำคัญคือเคยมีรายงานว่าการแข่งขันทักษะทางด้านคณิตศาสตร์นั้นนักเรียนไทยได้คะแนนสูงกว่านักเรียนของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ต่อมาได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาโดยแต่งตั้งจากบรรดานักวิชาการที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการเป็นครูหรือผู้บริหารสถานศึกษาทั้งระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา ผลการปฏิรูปการศึกษาในครั้งนั้นจึงเป็นปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาเรื้อรังมาจนถึงทุกวันนี้เพราะผู้ที่คิดและวางแผนล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ในเรื่องที่ตนเองต้องคิดและวางแผน
การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ก็เช่นกันเป็นการคิดและวางแผนจากบุคคลที่ไม่มีประสบการณ์ด้านการเรียนการสอนและการบริหารสถานศึกษาในระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาเลยแม้แต่คนเดียว ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติที่ออกมาจึงมีปัญหาหลายประเด็น ที่น่าสังเกตคือคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาคณะนี้ล้วนแล้วแต่เป็นนักวิชาการ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ย่อมมีความรู้ความสามารถด้านการวิจัยเป็นอย่างดีและย่อมต้องรู้ว่าการจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่แตกต่างจากที่เป็นอยู่นั้นควรต้องทำการศึกษาวิจัยเสียก่อน แต่กลับไม่มีงานวิจัยมารองรับแนวคิดที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลง จึงไม่สามารถยอมรับได้
นอกจากนี้การพยายามเสนอให้รัฐบาลใช้อำนาจฝ่ายบริหารออกเป็นพระราชกำหนดเพื่อประกาศให้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายก็เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามมาตรา ๑๗๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ เพราะขณะนี้ประเทศไม่ได้มีปัญหาในเรื่องความปลอดภัยสาธารณะ ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจ จนถึงกับต้องอาศัยร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้มาเยียวยาโดยออกเป็นพระราชกำหนด การเร่งรัดให้รัฐบาลออกพระราชกำหนดให้ ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในขณะนี้จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของการออกกฎหมายที่เหมาะสม
“ผมอยากเรียนว่าบรรดาผู้มีอำนาจทุกท่านล้วนเจริญเติบโตจนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถมาจนถึงทุกวันนี้ได้ก็เพราะมีคุณครูเป็นผู้ให้ความรู้อบรมสั่งสอน จึงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าครูเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านการศึกษาเป็นอย่างดี ดังนั้นการใดๆที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของชาติและเกี่ยวข้องกับครู ก็ควรให้ครูได้มีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นและเป็นคณะทำงาน การศึกษาที่ล้มเหลวในอดีตที่ผ่านมานั้นล้วนแล้วแต่เป็นผลงานการออกแบบตามแนวคิดของบุคคลที่ไม่มีประสบการณ์ด้านการสอนและด้านการบริหารสถานศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเลย โปรดอย่ามองว่าครูคือผู้ไม่มีความรู้ความเข้าใจด้านการศึกษาจนถึงขั้นไม่ใส่ใจในข้อเสนอแนะของครู เพราะจะทำให้คุณภาพการศึกษาตกต่ำลงไปอีก สงสารเด็กๆที่ต้องรับกรรมในสิ่งที่ตนไม่ได้ทำ” นายรัชชัยย์ ฯ กล่าวในที่สุด