บอร์ด กพฐ.มีมติเสนอแนะให้ สพฐ.คลอดนโยบายเด็กไทยว่ายน้ำเป็น 100% แทนการทำเป็นโครงการรายปี โดยใช้มาตรการลดหย่อนภาษีจูงใจให้เอกชนเอื้อใช้สระว่ายน้ำสอนเด็ก
วันนี้ (19 เม.ย.) รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมกพฐ. ว่า ที่ประชุมมีมติเสนอแนะให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกเป็นนโยบายเด็กไทยว่ายน้ำเป็น 100 % และไม่ควรนำมาผูกกับงบประมาณ โดยให้หาวิธีการในการคุยกับชุมชน สโมสรที่มีสระว่ายน้ำ หรือสระว่ายน้ำของเอกชนที่อยู่ใกล้เคียง แทนการทำเป็นโครงการในแต่ละปี ซึ่งใช้เงินเยอะมากแต่มีเด็กเข้าร่วมโครงการไม่กี่คน เช่น ในปี 2559 ดำเนินโครงการเด็กไทยว่ายน้ำช่วยชีวิต ใช้งบประมาณ 19 ล้านบาท มีเด็กเข้าร่วมโครงการ 30,000 คน เป็นต้น ทั้งนี้ สพฐ.สามารถจัดงบประมาณสนับสนุน หรือสถานศึกษาของบประมาณสนับสนุนได้ส่วนหนึ่ง
Advertisement
“วิธีการที่โรงเรียนจะดำเนินการตามนโยบายเด็กไทยว่ายน้ำเป็น 100% โดยขอความร่วมมือกับเอกชน เช่น สโมสรคิดค่าว่ายน้ำปกติ 30 บาทต่อคน หากมีเด็ก 2,000 คน ว่ายน้ำ 2,000 ครั้งต่อปี ต้องจ่ายเงิน 60,000 บาท แต่ในความเป็นจริงเมื่อโรงเรียนทำข้อตกลงกับสโมสรจะคิดครั้งละ 10 บาทต่อคน ก็จะบริจาคเงินคืนโรงเรียนมา 40,000 บาท โรงเรียนออกใบเสร็จให้นำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เป็นเงิน 80,000 บาท ซึ่งจะทำให้เอกชนอยากเข้ามาสนับสนุนการศึกษาและสามารถทำได้เลยไม่ใช่การซิกแซก เพราะผลประโยชน์ลงกับเด็กจริง และไม่เป็นการให้เอกชนแบกภาระค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบำรุงรักษาสระ ขณะเดียวกัน ควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หางบประมาณสร้างสระว่ายน้ำชุมชนให้เอกชนเข้ามาบริหารเพื่อเลี้ยงตนเองได้ ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะส่งเสริมให้เด็กไทยว่ายน้ำเป็น 100%” รศ.ดร.เอกชัย กล่าว
ประธาน กพฐ.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติให้จัดทำและปรับปรุงคู่มือกรรมการสถานศึกษา ซึ่งตามกฎหมายทุกโรงเรียนต้องมีคณะกรรมการสถานศึกษา และเพื่อให้กรรมการสถานศึกษารู้บทบาท อำนาจหน้าที่ของตนเอง โดยต้องดำเนินการจัดทำคู่มือให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนนับจากนี้ เพื่อจัดส่งให้สถานศึกษา และทุกเขตพื้นที่การศึกษาต้องอบรมกรรมการสถานศึกษาก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2562