12มี.ค.62- นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการปรับแบบประเมินความดีความชอบปี 2562 เป็น 3 ด้าน 13 แฟ้มสำหรับพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน ตามที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ได้กำหนดจนส่งผลให้การประเมินดังกล่าวเป็นการสร้างภาระงานให้แก่ครู ว่า เรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ ก.ค.ศ.ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแบบประเมินความดีความชอบใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ว20/2561 ซึ่งคาดว่าในวันที่ 13 มีนาคมนี้ สพฐ.จะประกาศใช้แบบประเมินความดีความชอบรูปแบบใหม่อย่างเป็นทางการให้ทุกส่วนราชการได้รับทราบและนำไปปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ขอยืนยันว่าการประเมินความดีความชอบที่ต้องใช้ 13 ตัวชี้วัดได้ยกเลิกทั้งหมดแล้วและจะไม่มีการนำมาใช้ประเมินอีกต่อไป
นายบุญรักษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับรูปแบบกำหนดแบบประเมินความดีความชอบปี 2562 ใหม่นั้นมีหลักการง่ายๆ เน้นไม่สร้างภาระงานให้ครู ซึ่งจะมีรายการประเมินกำหนดไว้ 4 ด้าน ได้แก่
1.ด้านการจัดการเรียนการสอน
2.การบริหารจัดการชั้นเรียน
3.การพัฒนาตนเองและวิชาชีพ
4.งานอื่นที่ได้รับมอบหมาย
ดังนั้นการประเมินความดีความชอบจะประเมินจากชิ้นงานจริงที่อยู่ในห้องเรียน ซึ่งมีครูผู้สอนจะเป็นผู้ที่ประเมินตนเองพร้อมกับผู้อำนวยการโรงเรียนให้การรับรอง เช่น การสร้างหรือพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนรู้และคุณภาพผู้เรียน การจัดทำแผนการสอนของครู จะได้รับการประเมินกี่คะแนน เป็นต้น อย่างไรก็ตามการปรับแบบการประเมินความดีความชอบใหม่นี้เหลือเพียงขั้นตอนเก็บรายละเอียดความสมบูรณ์ เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยและหลังจากนั้น สพฐ.จะแจ้งประกาศแบบประเมินใหม่ให้รับทราบต่อไป ซึ่งยืนยันว่าเป็นไปตามนโยบายของนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ที่ไม่สร้างภาระงานให้แก่ครูอย่างแน่นอน
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยโพสต์ วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2562