บอร์ด กอปศ. เห็นชอบแผนปฎิรูปประเทศด้านการศึกษา พร้อม ถก "อ่างขางโมเดล" ถือเป็นรูปแบบการพัฒนาโรงเรียนเครือข่ายความร่วมมือเพื่อคุณภาพการจัดการศึกษาอย่างแท้จริง
วันนี้ (28 ส.ค.) ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฎิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยภายกลังการประชุม กอปศ.ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนปฎิรูปประเทศด้านการศึกษา ซึ่งแผนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปฎิรูปประเทศ ไม่ใช่แผนการศึกษาเพียงอย่างเดียว โดยจะนำเสนอรัฐบาลในเร็วๆ นี้ รวมถึงจะมีการเปิดชี้แจงเกี่ยวกับแผนการปฎิรูปประเทศให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจประเด็นต่างๆให้ชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาโครงการอ่างขางโมเดลด้วย ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นรูปแบบการพัฒนาโรงเรียนเครือข่ายความร่วมมือเพื่อคุณภาพการจัดการศึกษา ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..ที่กำหนดไว้ให้มีการจัดการเรียนการบริหารอย่างอิสระ
ด้านนางเรียม สิงห์ทร กรรมการอิสระเพื่อการปฎิรูปการศึกษา กล่าวว่า ทั้งนี้โครงการอ่างขางโมเดล มีการรวมกลุ่มโรงเรียนในพื้นที่ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านขอบด้ง (อ.ฝาง) จ.เชียงใหม่ โรงเรียนเทพศิรินทร์ 9 (อ.ฝาง) จ.เชียงใหม่ โรงเรียนบ้านหลวง (อ.ฝาง) โรงเรียนบ้านผาแดง (อ.ไชยปราการ) จ.เชียงใหม่ และโรงเรียนสันติวนา (อ.ไชยปราการ) จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ถือเป็นการบุกเบิก ทำการทดลองวิจัยในการบริหารจัดการ เนื่อกาการเรียนรู้ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ระบบสามารถปลดล็อคในบางเรื่องได้ และต่อให้บางอย่างต้องผ่านองค์กรรับผิดชอบแต่องค์กรเหล่านี้ยืดหยุ่นได้ กลไกในปัจจุบันสามารถทำได้ แต่อาจจะไม่เต็มที่ สำหรับรูปแบบการพัฒนาโรงเรียนเครือข่ายความร่วมมือเพื่อคุณภาพการจัดการศึกษานั้น ทั้ง5 โรงเรียนเป็นชนเผ่า มีบริบท อัตลักษณ์แตกต่างกัน เป็นการปฎิรูปการศึกษาคนบนดอย เพราะถึงจะอยู่บนดอยแต่เป็นคนไทย การปฎิรูปการศึกษาต้องไปถึงตรงนั้น ซึ่งกอปศ.ได้เข้าถึงปัญหา และจัดการศึกษาเป็นกลุ่มโรงเรียนพื้นที่สูงและโครงการอ่างขางโมเดล มีความอิสระในการบริหารจัดการ 2เรื่อง คือ1.งบประมาณ ที่มีการใช้งบประมาณเป็นก้อนเพื่อการบริหารจัดการ มีบทบาทของคณะกรรมการ มีคนในชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งไม่มีการเพิ่มงบประมาณแต่เป็นการใช้งบเดิมให้มีคุณค่าและมีประสิทธิภาพของผู้เรียน และ 2.ด้านวิชาการ โดยมีนำศาสตร์พระราชามาใช้ในการจัดการเรียนการสอน พร้อมมุ่งเน้นให้เด็กมีทักษะในการสื่อสารภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และภาษาจีน อีกทั้งเน้นเรื่องการใช้ชีวิต เรียนรู้จากชีวิตจริง ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพแวดล้อม นำเข้าสู่หลักสูตรท้องถิ่น เรียนรู้แบบแอคทีฟเลินนิ่ง มีการเรียนการสอนอย่างมีชีวิตชีวา ครูต้องร่วมพัฒนาในเชิงวิชาการและวิชาชีพ เน้นฝึกให้เด็กอ่าน ออกเขียนได้ รวมถึงการใช้เทคโนโลยี ทำอย่างไรให้เด็กใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้อง มีประโยชน์ และมีทักษะศตวรรษที่21 นอกจากนี้จะมีการประเมินคุณภาพโดยใช้กรอบสมรรถนะ 10 ข้อ อาทิ การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ เป็นต้น ซึ่งทักษะเหล่านี้ เด็กบทดอยจะนำไปสู่ต่อยอดอาชีพ อย่างไรก็ตาม รูปแบบดังกล่าวถือเป็นการตอบโจทย์ปฎิรูปการศึกษา โดยระยะเวลาในการทำโครงการดังกล่าวจะใช้ ระยะเวลา 3 ปี
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า โครงการนี้ เป็นอีกโครงที่ กอปศ.ดำเนินการ เพื่อแสดงให้เห็นว่าแผนการปฎิรูปประเทศ และพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติเป็นจริงได้ โดยสาระหลักๆ ให้ดำเนินการในรูปแบบโรงเรียนอิสระ ซึ่งเป็นโครงการดังกล่าวถือเป็นโรงเรียนกลุ่มพิเศษ ที่ไม่ได้ติดกับพื้นที่การปกครอง เพราะ 5โรงเรียนเป็นโรงเรียนที่อยู่คนละอำเภอ แต่อยู่ในบริเวณสันเขาเดียวกัน เป็นพื้นที่ตามภูมิศาสตร์ ไม่ใช่การปกครอง และรูปแบบเน้นการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ และเป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ทั้งครู ครุภัณฑ์ เครื่องมือต่าง ซึ่งแนวความร่วมมือนี้ คล้ายกับโรงเรียนประชารัฐ แต่เป็นประชารัฐแบบกลุ่ม มีการตั้งทีมทำงานร่วมกัน ประกอบด้วยทีมงานในพื้นที่ และส่วนกลาง คาดว่าจะมีการประชุมร่วมกันในเดือนก.ย.นี้ เพื่อหารือและวางแผนการดำเนินการต่างๆ
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 28 สิงหาคม 2561