ศธ.เปิดศักราชใหม่ การประกันคุณภาพการศึกษา หลังกฎกระกระทรวงใหม่ประกาศใช้ ย้ำลดภาระครู เน้นพัฒนาตามระดับ ผู้บริหารต้องรับผิดชอบ เตือนอย่าหลงเชื่อบริษัทอ้างช่วยติว ชี้ไม่จำเป็น เน้นประเมินตามบริบทจริงสถานศึกษา
วันนี้( 10 ส.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดสัมมนาเรื่อง” เปิดศักราชใหม่ในการประกันคุณภาพการศึกษา School –friendly QA : an innovation platform “โดยมีนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ( ศธ.) กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า วันนี้เป็นวันประวัติศาสตร์ เริ่มเคาะระฆัง ในการประเมินคุณภาพการศึกษาแบบใหม่ ตนขอให้ทุกคนทำความเข้าใจ กฎกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2561 ที่เพิ่งประกาศใช้ ซึ่งขั้นตอนการประกันคุณภาพ เป็นไปเพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา ง่ายขึ้นและไม่เป็นภาระกับครู แต่จะไปตกอยู่ที่ผู้บริหาร โดยจะให้เริ่มนำร่องทันทีใน 4,500 โรงเรียน ประชารัฐ ซึ่งคุ้นเคยกับวิธีการประกันคุณภาพแบบใหม่อยู่แล้ว และ จะเริ่มการประเมินคุณภาพภายนอก รอบที่ 4 แบบใหม่ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.)ที่หยุดชะงักมานาน
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับวิธีการประเมิน โรงเรียนจะต้องเขียนแผนการประเมินตนเอง โดยผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องพิจารณาและวิเคราะห์ว่าตนเองเป็นสถานศึกษาในระดับใด จาก 5 ระดับ คือ ระดับพัฒนา ระดับปานกลาง ระดับดี ระดับดีเลิศ และระดับยอดเยี่ยม โดยอาจพิจารณาจากความพร้อมของโรงเรียน เช่น จำนวนครูต่อจำนวนนักเรียน ความพร้อมของห้องเรียน และระบบอินเทอร์เน็ต ห้องสมุด เป็นต้น ซึ่งแผนพัฒนาโรงเรียนต้องแข่งกับตัวเอง เพื่อเลื่อนระดับตัวเองให้ดีขึ้น โดยดูผลความสำเร็จจาก คุณภาพนักเรียน ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา การแก้ไขปัญหา ความขาดแคลนในด้านต่าง ๆ ให้ดีขึ้น เพื่อส่งให้ต้นสังกัด เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์การประเมินรูปแบบนี้ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ดำเนินการอยู่แล้ว ถ้ามหาวิทยาลัยใด ยังไม่มีรูปแบบการดำเนินการ สามารถนำกรอบการประเมินของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ มาต้นแบบเพื่อประเมิน โดยสถานศึกษา จะต้องออกแบบการประเมินตนเอง ตามบริบทและแนวทางการพัฒนาสถานศึกษาของตนเอง ซึ่งแต่ละแห่งจะมีโจทย์ และเป้าหมายต่างกัน ไม่ใช่ตัดเสื้อตัวเดียวสำหรับทุกคนอย่างที่ผ่านมา และตนย้ำต้นสังกัดไม่ให้ส่งแบบฟอร์มลงไปให้สถานศึกษา และการประเมินครั้งนี้จะไม่ใช่การจับผิด หรือ ลงไปตรวจสอบเหมือนที่ผ่านมา แต่เป็นการประเมินฉันท์มิตร โดย 3 ฝ่าย คือ ศธ. สมศ. และผู้ทรงคุณวุฒิที่จะลงพื้นที่ ไปทำการประเมินเพื่อช่วยพัฒนาโรงเรียน
“อย่างไรก็ตามในการประเมินทุกครั้งที่ผ่านมา จะมีคนอาสาเข้ามาติวให้สถานศึกษาเพื่อช่วยให้ผ่านการประเมิน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีกว่า 30 บริษัท และจากการประกาศกฎกระทรวงฉบับนี้ทำให้มีคนเสียประโยชน์หลายราย จนผมต้องมีตำรวจติดตามเพิ่ม ขอย้ำว่า การประเมินแบบใหม่ ไม่ต้องมีการติว ถ้าใครไปแอบอ้างว่า จะช่วยเหลือหรือติวให้ก็อย่าไปเชื่อ” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม 2561 เวลา 12.12 น.